หมูเถื่อน “หลุมดำ” หวั่นกระบวนการสอบสวนเจาะไม่ถึง “ตัวการ”

หมูเถื่อน “หลุมดำ” หวั่นกระบวนการสอบสวนเจาะไม่ถึง “ตัวการ”





Image
ad1

“คดีหมูเถื่อน” อาจเจอทางตันและหายเข้ากลีบเมฆไปไม่ต่างกับคดีใหญ่ๆ ในอดีต ที่คดีใดก็ตามพัวพันกับผู้ทรงอิทธิพลระดับประเทศ นักการเมืองใหญ่ หรือ ข้าราชการการเมืองและข้าราชการระดับสูง ผู้กระทำผิดมีอันรอดพ้นจากความผิดจากการพิจารณาคดีที่ลากยาว นานจนลืมว่าสอบสวนไปถึงขั้นตอนใด หรืออาจยืดนานจนคดีหมดอายุความ หรือ อาจจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมา ฟอกขาวให้ผู้ต้องหาจนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว    

ดคีหมูเถื่อนและเนื้อสัตว์เถื่อน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถูกแยกคดีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ 2. คดีหมูเถื่อนสำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์และอาหารทะเลแช่แข็ง จำนวน 2,385 ใบขน นำออกไปขายในตลาดแล้วมากกว่า 60,000 ตัน และ 3. คดีนำเข้าตีนไก่ 10,000 ตู้ ที่มีเนื้อสัตว์อื่นๆ ปนอยู่ด้วย ซึ่งคดีในกลุ่มแรกทำการสอบสวนกันมายาวนานเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีถึงที่สุดหรือสาวถึงตัวผู้บงการเบื้องหลังได้แม้แต่รายเดียว จับได้เพียงผู้ต้องหานายทุน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความจริงทั้งหมด ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 10 ราย จาก 10 คดี ผลการสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน (ตามคำกำหนดของ DSI)  ต้องจับตาดูกันว่าการจับกุมจะได้ “ปลาซิว” หรือ “ปลาฉลาม” สังคมต้องจับตาดูบทพิสูจน์ขบวนการยุติธรรมของไทย  

จากคำให้สัมภาษณ์ของ DSI ผ่านรายงานข่าวแห่งหนึ่งว่า คดีในกลุ่มที่ 2 (หมูเถื่อนสำแดงเท็จ 2,385 ใบขน) ได้มีการหารือร่วมกับคณะอัยการ มีความเห็นว่าคดีในกลุ่มนี้ (เล็ดลอดออกสู่ตลาดในประเทศไปแล้ว) อาจใช้ช่องทางความร่วมมือทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty : MLAT) เพื่อขอให้จัดส่งเอกสารหลักฐานอย่างเป็นทางการจากประเทศต้นทางบริษัทส่งออกหมูเถื่อน ทั้งจากบราซิลและบริษัทในยุโรป มาทำการตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นการปลอมใบ Invoice หรือไม่

ซึ่งเท่ากับเป็นการนำคดีหมูเถื่อนไปพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในขั้นตอนการสอบสวนทั้งหมด และต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ในการสอบสวน ตามที่ DSI แจง จึงเกิดคำถามว่าเป็นการ “ดึงเวลา” เพื่อใคร?  

ขอมองต่างมุมการตีความตามกฎหมาย ว่า หมูเถื่อนที่สำแดงเท็จจำนวน 2,385 ใบขน นั้นถูกกระจายไปทั่วประเทศ มีการซื้อ-ขายกันแล้ว เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เหตุใดหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ดำเนินคดีภายใต้กฎหมายไทยกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด จากหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลที่จับกุมได้ก่อนหน้านี้ หรือเรียกเอกสารนำเข้าเพิ่มเติมจากกรมศุลกากร ก็จะสามารถเดินหน้าให้คดีมีความคืบหน้าได้และอาจจะได้คนที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้ตัวจริงแล้ว เหตุใดจึงต้องไปพิสูจน์ว่า Invoice ดังกล่าวว่าเป็นของปลอมจากประเทศต้นทาง เพราะการนำสินค้าออกจากท่าเรือโดยสินค้าที่แจ้งไม่ตรงกับสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ ก็เป็นการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าเอกสารนำเข้านั้นเป็นของปลอมจริง 

ตัวอย่างการพิจารณาคดีหมูเถื่อนภายใต้กฎหมายไทย ที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบคดี จนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนาทวี พิพากษาทั้งจำและปรับผู้ต้องหา 4 ราย คดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 30,000 กิโลกรัม เข้ามาในราชอาณาจักร ปรับหนักเป็นคดีแรกคนละ 8.6 ล้านบาท จำคุก  6 เดือน เพราะเป็นคดีนโยบายระดับประเทศ แสดงให้เห็นว่าภายใต้กฎหมายไทยสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แน่นอน และคดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่มีการตัดสินถึงที่สุดในชั้นศาล เพราะเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตัดสินบริษัทอนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จำกัด โทษคุก-ปรับ ฐานลักลอบค้าหมูเถื่อน ถือเป็นรายแรกที่มีการทำสำนวนการสอบสวนสั่งฟ้อง 

วิธีการของ DSI ดังกล่าว จะทำให้คดีหมูเถื่อนลากยาวจาก 2 ปี เป็น 3 ปี เปิดช่องให้ผู้กระทำผิด ได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการต่อสู้คดี โอกาสที่จะสอบสวนให้ถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งนักการเมืองอักษรย่อ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูง ดูจะริบหรี่เต็มที เหมือน “หลุมดำ” ที่ไม่มีอะไรสามารถเข้าถึงได้ สำคัญอย่างยิ่งเมื่อคดีลากยาวไปทำให้การสอบสวนไม่เคร่งครัดและต่อเนื่องเหมือนเดิม เมื่อสังคม ลืมๆ อุตสาหกรรมหมูเขาไม่หยุดรอ ต้องเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้งเพื่อรักษาอาชีพ ก็คงจะไม่ได้หวนกลับทวงความยุติธรรมอีก คดีนี้อาจจะถูกฝังกลบให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยเหมือนกับ “หมูเถื่อน” จึงอยากตั้งคำถามไว้ว่าการพิจารณาคดีข้างต้นเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ผลดีจะเกิดกับประเทศ หรือ เกิดกับใครกันแน่

โดย...อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ