พิจิตรภัยแล้งหนักชาวนาลุ่มน้ำยมรวมตัวร้องทุกข์นาข้าวกว่า2หมื่นไร่กำลังจะแห้งตาย

พิจิตรภัยแล้งหนักชาวนาลุ่มน้ำยมรวมตัวร้องทุกข์นาข้าวกว่า2หมื่นไร่กำลังจะแห้งตาย





ad1

ชาวนาเมืองชาละวันจาก 2 ตำบล รวมตัวร้องทุกข์ผ่านที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องขอให้ช่วยแก้วิกฤตนาข้าวนับหมื่นไร่ซึ่งอยู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ซึ่งเป็นรอยต่อกับพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำปิงกำแพงเพชร เหตุต้นข้าวนาปรังที่ภาครัฐส่งเสริมสั่งให้ปลูกต้นเดือนเมษายนเพื่อให้ได้เก็บเกี่ยวปลายเดือนกรกฎาคมเพื่อหนีน้ำท่วม แต่ปรากฏว่าเจอฝนทิ้งช่วงทำให้เดือดร้อนกันทั่วหน้า 

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายสุรชาติ ศรีบุศกร ที่ปรึกษา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ไปพร้อมกับ สจ.จักรัตน์ จันทโรทัย และ สจ.นพดล พึ่งวัฒนะ  สจ.เขต อ.โพทะเล เพื่อรับฟังปัญหาการร้องทุกข์ของกลุ่มชาวนาจาก ต.บางลาย และ ต.ท้ายน้ำ ที่นำโดย นายจิรวัฒน์  แจ่มจำรัส   กำนันตำบลท้ายน้ำ และ นายแดง ปานทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.บางลาย ที่ได้พาแกนนำชาวนาจากทั้ง 2 ตำบล กว่า 30 คน ที่มาร้องทุกข์ว่านาข้าวของชาวบ้านพื้นที่ดังกล่าว โดยรวมแล้วกว่า 1 หมื่นไร่ ซึ่งเพาะปลูกเป็นข้าวนาปรังตามที่กระทรวงเกษตรฯ แนะนำว่าพื้นที่แถบนี้ถึงฤดูน้ำหลากก็จะถูกน้ำท่วม 

ดังนั้นจึงต้องปลูกข้าวนาปรังในช่วงต้นเดือนเมษายน 67 และต้องเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 67 ซึ่งชาวนาก็ดำเนินการปลูกข้าวนาปรังดังกล่าวมาได้กว่า 1 เดือนแล้ว  โดยใช้น้ำจากแพสูบน้ำในแม่น้ำยมรวมถึงรับน้ำมาจากคลองวังบัว-วังยาง ซึ่งเป็นน้ำมาจากแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งปรากฎว่าหลังจากเมือวันที่ 20 เมษายน 67 เป็นต้นมา น้ำจากในแม่น้ำยมและจากคลองวังบัว-วังยาง ก็ไม่มีน้ำให้สูบในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวจึงทำให้ขณะนี้นาข้าวนับหมื่นไร่กำลังวิกฤตอย่างหนักถ้าภายใน 7-10 วันนี้ ไม่มีฝนตกลงมา หรือ ชลประทานไม่ผันน้ำเข้าคลอง หรือ ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำยมนาข้าวของเกษตรกรกลุ่มนี้ก็คงหนีไม่พ้นความเสียหายอย่างแน่นอนจึงวิงวอนอยากให้รัฐบาลช่วยหาวิธีดำเนินการช่วยเหลือชาวนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ด้วย

ในส่วนของ นายบรรจง วงศ์มา  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา วังยาง-หนองขวัญ จ.กำแพงเพชร , นายวุฒิภัทร นุชหนู  หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว จ.กำแพงเพชร , นายวิทูร เกิดอินทร  หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานพิจิตร ซึ่งก็ได้ร่วมกันลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาและฟังปัญหาจากชาวนากลุ่มดังกล่าวนี้ จากนั้น นายบรรจง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา วังยาง-หนองขวัญ จ.กำแพงเพชร ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 หน่วยงานดังกล่าว หลังจากนี้ก็จะบูรณาการ การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

คือ การหาปริมาณน้ำส่งมาให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงว่ามีปริมาณมากเพียงพอที่จะผันน้ำเข้ามายังคลองวังยาง-หนองขวัญ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งได้หรือไม่ ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคตในช่วงฤดูน้ำหลาก คือ เดือนสิงหาคม-กันยายน  67 ก็คงต้องใช้หลักการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐกับภาคประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกรในอนาคตต่อไป

โดย...สิทธิพจน์ เกบุ้ย /พิจิตร/