ถึงเวลาทำ GAP เป็นมาตรฐานบังคับ ช่วยเกษตรกรข้าวโพดลดข้อหาพัวพัน PM2.5
ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย หรือแม้แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าว ก็หนีไม่พ้นข้อหาการเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งเสมอ จนเกิดการกดดันให้ “คนรับซื้อพืชเหล่านี้” ต้องหามาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนลดการเผา ซึ่งนับว่ากลุ่มโรงงานอาหารสัตว์รับลูกในเรื่องนี้เป็นอย่างดีมาตลอด 10 ปี ทั้งยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลไทย ประกาศบังคับใช้มาตรฐาน GAP ในการปลูกพืชอาหารสัตว์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปทั้งเพื่อตอบโจทย์ทางการค้า และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
มาตรฐาน GAP หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice : GAP) เป็นมาตรฐานในการตอบโจทย์การผลิตพืชอาหารสัตว์ และมีข้อกำหนดห้ามเผาตอซังในแปลงปลูก นอกจากจะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงแล้ว ยังเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยลดหมอกควัน อันป็นสาเหตุของปัญหา PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นโรงงานอาหารสัตว์หลายแห่ง ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ดำเนินนโยบายจัดซื้อเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจอาหารสัตว์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.) ไม่สนับสนุนการลักลอบนำเข้า 2.) รับซื้อผลผลิตที่มีแหล่งที่มาถูกต้อง และ 3.) ไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากแหล่งที่มีการเผาตอซัง รวมถึง ขอให้สมาชิกวางโครงสร้างการพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยจะต้องกำหนดนโยบาย เตรียมการลงทุน จัดหาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ได้มาตรฐานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission)
สมาชิกหลายบริษัทให้การตอบสนองแนวทางนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ “บริษัทในเครือซีพี” ที่จัดทำ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับการจัดหาวัตถุดิบ” และประกาศนโยบาย “ไม่รับและไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่รุกป่าและพื้นที่ที่มาจากการเผา” โดยขณะนี้ดำเนินการในส่วนการรับซื้อข้าวโพดในประเทศได้แล้ว 100% และกำลังขยายการดำเนินการจัดหาผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
จริงอยู่ว่าปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ที่ล่าสุดพบจุดความร้อนมากที่สุดในประเทศกัมพูชานั้น เป็นจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในนาข้าวเป็นหลัก แต่การเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศเพื่อหาความร่วมมือในการแก้ปัญหานั้น หากมีการแนะนำแนวทางการรับซื้อข้าวโพดที่ปราศจากการเผาให้มีการประกาศและบังคับใช้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ย่อมมีส่วนช่วยให้ พ่อค้าพืชไร่ ที่รับซื้อผลผลิตนำเข้าจากเกษตรกรกัมพูชา จะสามารถตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้ข้าวโพดนำเข้าเป็นข้าวโพดที่ปราศจากการเผาตามมาตรฐานเดียวกันกับข้าวโพดในประเทศไทย
แต่การจะไปเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านทำมาตรฐาน GAP ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่บังคับใช้มาตรฐานนี้อย่างเต็มที่ เป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจที่เกษตรกรบางรายเลือกที่จะไม่ปฏิบัติก็ได้นั้น นายกเศรษฐา ทวีสิน ของไทย จะเจรจากับนายกกัมพูชาอย่างเต็มปากได้อย่างไร นี่จึงเป็นที่มาที่บอกว่า รัฐบาลไทยต้องบังคับใช้มาตรฐาน GAP ในข้าวโพดให้เป็นมาตรฐานบังคับ ไม่ใช่มาตรฐานสมัครใจอย่างที่เป็นอยู่ ปล่อยให้เกษตรกรที่ต้องการขายข้าวโพดให้รายใหญ่ใช้ข้าวโพดมาตรฐาน GAP แต่เกษตรกรที่จะไปขายรายอื่นๆ สามารถทำการเผาต่อไปได้ ... แบบนี้ไม่ช่วยลดสาเหตุหมอกควัน และไม่ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลุดพ้นข้อหาพัวพัน PM2.5 ได้เลย./
โดย... วายุ นพดล