ชาวอำนาจเจริญพร้อมใจยกฉัตรพระเจดีย์หินพันล้านก้อน

ชาวอำนาจเจริญพร้อมใจยกฉัตรพระเจดีย์หินพันล้านก้อน





ad1

อำนาจเจริญ-พ่อเมืองทำเจ๋ง นำพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธียกฉัตรพระเจดีย์หินพันล้านก้อน สืบสานต่อยอดให้เป็นที่รู้จักของชาวพุทธศาสนาทั่วไป

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. พระครูจารุธรรมพิมล(พระอาจารย์ราวี จารุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดป่าโนนกุดหล่ม บ้านโนนสังข์ ต.โพนเขวา อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  และว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธียกฉัตรพระเจดีย์หินพันล้านก้อน ณ ที่พักสงฆ์ภูพนมดี เจดีย์หินพันล้านก้อน หมู่ที่ 3  บ้านนาอุดม ต.หนองไฮ อ.เสนานิคม จ.อำนาจเจริญ โดยมีพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมพิธีจนแน่นวัด ทั้งนี้เพื่อยกระดับและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทั่วทั้งประเทศไทยและชาวต่างชาติ พร้อมหนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมมะและดึงดูดประชาชนให้มาท่องเที่ยวกันได้ตลอดทั้งปี

ภูพนมดีอยู่ในแนวเทือกเขาภูพาน เดิมมีชื่อเรียกว่า ภูแม่หม้าย เนื่องจากบริเวณภูเขาแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งอาหารชาวบ้าน มักจะเข้ามาล่าสัตว์ไปทำอาหารและตัดต้นไม้ ทำบ้านเรือนเป็นประจำ โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่เข้ามาล่าสัตว์และตัดต้นไม้ จะเกิดอาถรรพ์ ทำให้ล้มป่วยเสียชีวิต ภรรยาขาดสามี ทำให้เป็นหม้าย ทั้งหมู่บ้าน จึงถูกเรียกว่า ภูแม่หม้าย เชื่อว่า เจ้าป่า เจ้าเขา ที่ปกป้องผืนป่าแห่งนี้แสดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า กระทั่งปัจจุบัน 

ส่วนจะหาของป่าหรือสัตว์ป่าไปทำอาหารต้องขอท่านเจ้าป่าเจ้าเขาเสียก่อน จะได้ไม่เกิดภัยอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้ง พระกรรมฐานผ่านมาและได้ปักกรดปฏิบัติธรรม เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนชื่อจากภูแม่หม้าย เป็น ภูพนมดี เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ทางราชการ เรียกว่า ภูผาดี ซึ่งพื้นที่โดยรอบของภูพนมดี ประกอบด้วย 1. ผาดี หน้าผาชมธรรมชาติ 2. หนองหมาจอก 3. ผากล้วยไม้ 4. ป้อมฝรั่งเศส 5. ถ้ำเกีย(ค้างคาว) 6.ถ้ำปู่อังคฮาด 7. ถ้ำแสงแก้ว 8.เจดีย์หินพันล้านก้อน 9.เรือสำเภาราชสีห์ และ10.พระศรีรัตนตรัยรัตน์  

ประวัติการก่อสร้างเจดีย์หินพันล้านก้อน เล่ากันว่า ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ ชาว ต.หนองไฮ ห่างจากภูพนมดีประมาณ 5 กิโลเมตร มักจะพบเห็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ แปลกประหลาดเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งชาวบ้านจะพบเห็นลำแสงสีเขียวพาดผ่านถ้ำปู่อัคฮาดไปยังถ้ำแสงแก้ว และเชื่อว่า ปู่อัคฮาดแสดงปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกป้องรักษาบริเวณพื้นป่าและเทือกเขาแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์ ไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่า ต่อมา พ.ศ.2530 พระอาจารย์ปัญญา จากวัดสุปัฏวนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี ได้มาคปฏิบัติธรรม ร่วมกับพระอาจารย์เพียว พระอาจารย์โจ

ระหว่างวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์ปัญญา นิมิตอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งเหล่าเทวดา ต้องการให้สร้างสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนำเรื่องไปปรึกษาญาติโยม จึงให้สร้างสิ่งมงคลสำหรับกราบไหว้บูชา และควรสร้างเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจด้วย กระทั่งปี พ.ศ.2529 คณะสงฆ์และชาวบ้าน ต.หนองไฮ อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธรูปปางมารวิชัย สีขาวทั้งองค์ บนหน้าผา นามว่า พระศรีรัตนตรัยรัตน์  พร้อมกับสร้างบันได 245 ขั้น เพื่อเป็นทางขึ้นลงภูเขาของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน

ต่อมาปี 2542 พระอาจารย์ปัญญา เจ้าอาวาสองค์แรก ร่วมกับชาวบ้าน ก่อสร้างเจดีย์ ทำจากหินภูเขาสีขาว ที่ชาวบ้าน คัดแยก ขนาด ตามต้องการ ติดกับโครงสร้างรูปร่างเจดีย์ นับพัน นับล้านก้อน กลายเป็นรูปร่างเจดีย์หินพันล้านก้อน มีความสูง 30 เมตร ฐานกว้าง 20 เมตร ซึ่งภายในเจดีย์ เป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีทางศาสนา และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปหล่อพระเกจิอาจารย์ชั้นนำ ที่มรณภาพไปแล้ว เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นต้น รวมถึงภาพเขียนประวัติพระพุทธเจ้าอย่างสวยงาม อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน 

สำหรับเรือสำเภาราชสีห์ อยู่ห่างจากเจดีย์หินพันล้านก้อน ประมาณ 20เมตร เดิมสร้างเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ มีลักษณะเป็นรูปเรือสำเภา หัวเป็นราชสีห์ กลางเรือ ภาพแกะสลักรูปพระนอนทอดยาวไปตามเรือสำเภาอย่างสวยงาม ซึ่งเรือสำเภาราชสีห์สร้างเสร็จ เมื่อปี 2547 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี   

ปัจจุบันได้มีการจัดสร้างองค์ปู่มุจลินทร์นาคราช นั่งปรกพระศรีรัตนตรัยรัตน์  บนวิวเขาที่มีความสงบร่มรื่นและสวยงาม และในวันนี้ (14 มกราคม 2567) ได้มีการทำพิธียกฉัตรพระเจดีย์หินพันล้านก้อน จากศรัทธาของญาติโยม นอกจากเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมแล้วยังจะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะและธรรมชาติต่อ

ภาพ-ข่าว:ทิพกร   หวานอ่อน  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ