เสียงร้องคนกบินทร์บุรี...วิงวอนรัฐบาลมองช้างป่าสร้างปัญหาระดับชาติ

เสียงร้องคนกบินทร์บุรี...วิงวอนรัฐบาลมองช้างป่าสร้างปัญหาระดับชาติ





ad1

หลังจากปิดยุทธการผลักดันช้างป่า จากกช่วงหน้าหนาว-แล้ง   มีโขลงช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา (ในเขตป่าลุ่มต่ำผืนสุดท้ายของไทยในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี) มากกว่า 150 ตัว  ยกโขลงข้ามถิ่น ออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บุกยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นไร่อ้อยไกลถึง บริเวณหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 11ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างหนักเนื่องจากโขลงช้างป่ากินทำลายพืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างหนักทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน

ล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายอรรถพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับนายเผด็จ  ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายธานนท์  โสภิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 นายก้องเกียรติ  เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 นายสมเกียรติ สุสัณพูลทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และเข้าร่วมประชุมที่องค์การบริหารส่วนต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เพื่อรับทราบข้อมูลจากหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ ประกอบด้วย นางสาวภัทริน ภู่มณี นายกองค์การบริการส่วนตำบลวังท่าช้าง นายธนุวัฒน์ เมืองจันทร์  ปลัดอำเภอกบินทร์บุรี นายวัชรธรรม พรมสามสี กำนันตำบลท่าช้าง และนายแอ็ด ตะเภาพงษ์ ตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นที่ประชุมได้ร่วมกันวางแผนเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดย รอ.รชฎ ได้ให้กำลังใจชุมชนและเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขปัญหาและผลักดันช้างป่าให้กลับคืนสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการในการผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  โดยเป็นการบูรณาการสนธิกำลังร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดปราจีนบุรี และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยใช้ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวังท่าช้าง เป็นสถานที่ตั้งศูนย์บัญชาการ มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 เป็นผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า  เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ขณะเดียวกันสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) จำนวน 100 คน สำนักบริหารที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) จำนวน 100 คน และจังหวัดปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลวังท่าช้างจำนวน  50 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน ในการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ให้กลับคืนสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.66 เป็นต้นไป โดยให้มีการรายงานผลเป็นประจำทุกวัน ออกปฏิบัติงานในทันทีอย่างต่อเนื่องจนกว่าภารกิจจะสำเร็จ  

นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 9  ธ.ค.66 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันช้างเข้าป่าได้ครบทุกตัวแล้วและได้ ปิดยุทธการผลักดันโขลงช้างป่าในการนำกลับคืนผืนป่าลุ่มต่ำผืนสุดท้ายสำเร็จเรียบร้อย   พร้อมแยกย้ายกลับที่ตั้งต้นสังกัด โดยจะมอบหมายให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนรับช่วงต่อ ในการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ช้างออกมาอีก สามารถทำการผลักดันกลับสู่ป่าได้สำเร็จครบทุกตัว  

แม้ว่าจะผลักดันโขลงช้างป่านับร้อยตัวกลับสู่ถิ่นเดิมไปแล้วแต่ช้านบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี ต่างก็อยู่ด้วยความหวาดผวาเพราะเชื่อว่าโขลงช้างป่าจะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอนเพราะพวกมันหลงไหลพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน เช่นเดียวกับกับทุกครั้งที่โขลงช้างป่าถูกผลักดันกลับสู่ถิ่นฐานเดิม แคคล้อยหลังไปได้ไม่นานก็จะหวนกลับมาร้องความเดือนร้อนให้กับชาวบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

น.ส.ธนารีย์ หลากระโทก ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า บอกว่า เมื่อ 3-4 คืนที่ผ่าน   ก่อนที่จะมีการผลักดันช้างป่านางวันเพ็ญ แสนแก้ว น้าสาวโทรศัพท์ไปบอกว่าช้างกำลังพังยุ้งข้าวอยู่หลังบ้าน จึงพากันออกมาส่องไฟดูและพบเห็นช้างกำลังเดินเลาะยุ้งข้าวอยู่หลังบ้าน จึงจุดประทัดไล่ช้างออกจากบริเวณบ้านก่อนที่จะดึงถุงข้าวเปลือกมากิน ชาวบ้านยังหวาดกลัวช้างป่าอยู่ไม่รู้ว่าช้างจะกลับมาอีกวันไหน 

ด้านยายเพชร ไชยราช กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักช้างป่าเข้ามากัดกินไร่อ้อยเกือบร้อยไร่ อาจขายไม่ได้เช่นเดียวกับอีกหลายๆครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน ปลูกบ้านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปีพ.ศ 2516 เมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่เคยมีปัญหาเรื่องช้างป่า แต่พอมา 10 ปีหลัง เริ่มมีช้างป่าจากเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเขาอ่างฤาไน ซึ่งอยู่เขตรอยต่อติดกันเข้ามาหากินในพื้นที่แถวบ้าน 

แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบการใช้ชีวิตมากนัก จน 4 ปีที่ผ่านมา ช้างเข้ามาเยอะมากขึ้นจากที่เคยมาหลักสิบตัว ล่าสุดปีนี้เข้ามามากถึง 100-200 ตัว กัดกินพืชไร่ผลผลิตได้รับความเสียหาย รู้สึกกลัวมากกลางคืนก็นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีวิธีแก้ไขอย่างอื่นนอกจากทำใจอยู่ต่อไปถึงแม้จะต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทุกคืน ไม่รู้ว่าช้างจะกลับมาตอนไหนอยากให้ทางภาครัฐ ช่วยผลักดันให้ช้างป่ากับสู่ป่าอย่างถาวร และไม่ให้กลับออกมาอีกจะได้นอนหลับเต็มอิ่มเสียที

โดย...มานิตย์  สนับบุญ -ข่าว/ทองสุข  สิงห์พิมพ์ - ภาพ    / ปราจีนบุรี