“พ.ต.อ.ทวี” แจงปม 5 นักศึกษา-นักกิจกรรมชายแดนใต้ถูกจับกุมข้อหาม.116

“พ.ต.อ.ทวี” แจงปม 5 นักศึกษา-นักกิจกรรมชายแดนใต้ถูกจับกุมข้อหาม.116





ad1

 “พ.ต.อ.ทวี” แจงปม 5 นักศึกษา-นักกิจกรรมชายแดนใต้ ถูกตำรวจแจ้งข้อหาตามมาตรา 116  “ยุยง ปลุกปั่น” กรณีจัดกิจกรรม “ประชามติแยกดินแดน” ถือว่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว การประกันตัวเป็นดุลยพินิจของศาล ส่วนกระทรวงยุติธรรมเดินหน้ารื้อโครงสร้างใหญ่ ออกกฎกระทรวงแยกคุมขังระหว่างผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดี กับนักโทษเด็ดขาด ห้ามขังรวม คาดคืนความเป็นได้ 2-3 หมื่นคน

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธ.ค.2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใตืเพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวกรณีตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “ยุยง ปลุกปั่น” กับนักกิจกรรมและนักศึกษาขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่ร่วมกันจัดกิจกรรม “ประชามติแยกดินแดน” ว่า ขั้นตอนนี้ถือเป็นคดีไปแล้ว ตอนนี้อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม และการประกันตัวสู้คดี ซึ่งเรื่องการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว เป็นดุลยพินิจของศาล 

ส่วนทางกระทรวงยุติธรรม กำลังพิจารณาจัดทำกฎกระทรวง ตามมาตรา 89/1 คือคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน หรือที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะไม่ให้ปฏิบัติหรือควบคุมเหมือนนักโทษเด็ดขาด ซึ่งในจำนวนนี้ก็จะมีน้องๆนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ แล้วโดนความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามชุมนุมยกเลิกไปแล้ว แต่คดียังอยู่ 

เรื่องนี้เป็นหลักการที่จะทำ ได้คุยกับเลขาธิการศาลยุติธรรม ทางศาลก็เห็นด้วย ซึ่งถ้าออกกฎกระทรวงมาแล้ว ก็จะเป็นดุลยพินิจของศาล ต้องไม่นำผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุดมาขังหรือปฏิบัติเหมือนนักโทษเด็ดขาด เรื่องนี้หากยิ่งปล่อยไว้ก็จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด จะบอกว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ และระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง 

“ผู้ต้องหาและผู้ต้องขังกลุ่มนี้น่าจะมีอยู่ 2-3 หมื่นคน เขาจะได้มีเวลาไปต่อสู้คดี อยู่บ้าน หรือศาลอาจจะมีมาตรการต่างๆ เช่น จำกัดการเดินทางออกนอกประเทศหรือออกต่างจังหวัดก็ได้ เรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมจะเร่งแก้ไข” พ.ต.อ.ทวี กล่าว 

สำหรับมาตรา 89/1 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพูดถึงนั้น บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า 

“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา เมื่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายขังร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ หรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำก็ได้ โดยให้อยู่ในความควบคุมของผู้ร้องขอ หรือเจ้าพนักงานตามที่ศาลกำหนด ในการนี้ ศาลจะกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ศาลจะดำเนินการไต่สวนหรือให้ผู้เสียหายหรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามหมายขังคัดค้านก่อนมีคำสั่งก็ได้

สถานที่อื่นตามวรรคหนึ่งต้องมิใช่สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน โดยมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย

เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายขังได้”