'ภาสกร'พ่อเมืองปทุมฯโชว์วิสัยทัศน์ ปั้นปทุมธานีศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมริมน้ำเจ้าพระยา

'ภาสกร'พ่อเมืองปทุมฯโชว์วิสัยทัศน์ ปั้นปทุมธานีศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมริมน้ำเจ้าพระยา





ad1

เปิดวิสัยทัศน์ นักปกครองหนุ่ม “ภาสกร บุญญลักษม์" ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี มุ่งมั่นพัฒนา ยึดหลักความต้องการของประชาชน คือยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดเน้นเรื่องของการพัฒนาที่มีดุลยภาพและมีความยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชน

ภาสกร บุญญลักษม์  เปิดเผยว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้หนึ่งเดือนกว่าๆ ตั้งแต่มารับตำแหน่งได้ลงพื้นที่ รับรู้ถึงปัญหาแต่ละพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี ปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ปัจจัยหลักของปทุมธานี คือเรื่องอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของจังหวัดและเป็นรายได้ของประเทศด้วย เราต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ เช่นเรื่องความปลอดภัย ยาเสพติด สาธารณภัยต่างๆไม่ว่าจะเป็น อัคคีภัยและอุทกภัย ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่น มั่นใจ  ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเราคงไม่ไปแตะเยอะเพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว

สิ่งที่ผมสนใจ คือการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร จังหวัดปทุมธานีเรามีศักยภาพในการท่องเที่ยวมากเรามีสายน้ำหลักของประเทศไหลผ่านคือแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงจังจากสายน้ำเจ้าพระยาเลย มีเพียงแค่การขนส่ง เท่านั้นเอง เราไม่เคยเปิดมิติการท่องเที่ยวทางน้ำเลย ผมจึงอยากจะดึงมิติการท่องเที่ยวทางน้ำโดยใช้สายน้ำเจ้าพระยามาให้ประโยชน์ ตั้งแต่ กรุงเทพ นนทบุรี จนถึงปทุมธานี เป็นเรื่องที่ผมอยากจะเน้นหนักและก็อยากจะเชิญชวนในส่วนของประชาชน ภาคเอกชนมาร่วมด้วย ถ้าเราสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำได้ คนริมตลิ่งต่างๆเขาก็จะตกแต่งบ้านเรือนริมน้ำไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม หรือร้านค้า ร้านอาหาร ก็จะดูมีชีวิตชีวาสวยงาม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว อันนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมอยากจะทำ

และในส่วนของการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา จังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งก่อกำเนิดศิลปวัฒนธรรมต่างๆอย่างมากมายแต่เราไม่มีการสืบสานและขับเคลื่อนเชิดชูแบบจริงจังทำให้วัฒนธรรมของเราในแต่ละพื้นที่ ไม่โดดเด่น ทั้งๆที่เรามีวัฒนธรรมต่างๆวัฒนธรรมชาวมอญอยู่กันอย่างมากมาย แต่วัฒนธรรมชาวมอญกับไปโดดเด่นที่จังหวัดอื่นไม่ใช่จังหวัดของเรา ซึ่งเราจำเป็นต้องรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของเราไว้ ซึ่งผมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคีเครือข่ายมาร่วมหารือ การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของผมนี่ไม่ได้เป็นคนกำหนดทิศทางในการพัฒนาแต่เป็นคนกำหนดโครงสร้างการพัฒนาที่แข็งแรง ความต้องการต้องมาจากพี่น้องประชาชนคนปทุมธานี คนปทุมธานีต้องการอะไรจะนำไปบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัด กี่ผู้ว่าที่มาก็ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน

การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เราต้องทำโครงการท่องเที่ยวต่างๆเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมโบราญสถาน เที่ยวเชิงวัฒนธรรม แวะทานอาหารอร่อย ทำให้แต่ละพื้นที่ก่อเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว เราต้องพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างอัตลักษณ์ การอนุรักษ์ และสร้างคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดปทุมธานี สร้างการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด “สายน้ำเจ้าพระยา”และที่สำคัญเราต้องปลุกการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สืบสานวัฒนธรรมให้กับอนุชนรุ่นหลังได้รู้ถึงความเป็นมา จัดให้เป็นงานประจำปี งานประจำจังหวัด

เรามีศักยภาพในเรื่องของหอประชุมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยหรือองค์กรส่วนท้องถิ่นเราจะใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่ดึงคนเข้ามา จัดสัมมนา จัดการประชุมต่างๆ รวมถึงการจัดงานแฟร์ใหญ่ๆ รายได้ก็จะเข้ามาในพื้นที่  เรามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาก มีศูนย์วิทยาศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หออัครศิลปิน สวนสนุกขนาดใหญ่ มันอยู่ในจังหวัดปทุมธานีทั้งหมด ที่กำลังก่อสร้างก็สวนสัตว์ที่ คลอง 6  เราจะต้องพัฒนาเมืองปทุมธานีของเราเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ และให้น้องๆ นักเรียนมาดูงานได้ ถ้ามาดูงานได้ มาเที่ยวได้ ก็หมายความว่า พี่น้องของเราสามารถที่จะมาขายอาหาร ทำมาค้าขายได้อีกเยอะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เราต้องดูทุกมิติไม่ใช่ศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว

ด้วยศักยภาพที่เราอยู่ใกล้กรุงเทพมากนั่งรถมาไม่นานก็ถึง เราต้องใช้ประโยชน์ที่เรามีอยู่ ของดีในจังหวัดปทุมธานีเรามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สินค้าโอทอปต่างๆ อาหารพื้นถิ่นเช่น ข้าวแช่ เราจะจัดเทศกาลการกินข้าวแช่ เชิญชวนคนกรุงเทพและปริมณฑลมากินมาชิม เพราะว่าอาหารมอญแท้ๆอยู่ตรงนี้ปทุมธานีบ้านเรา  จัดเทศกาลอาหารปลอดภัย เรามีวัตถุดิบในการทำอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นกุ้งแม่น้ำ ปลา รวมถึงผักปลอดสารต่างๆ ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลอง


ส่วนประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณี แห่หงส์ ธงตะขาบ ประเพณีโยนบัว ผมพยายามมานั่งดูปฏิทินการท่องเที่ยวต่างๆของเราว่ามีอะไรบ้าง เพราะว่าจังหวัดปทุมธานี เราเที่ยวได้ทั้งปี ไม่มีข้อจำกัด 365 วันเที่ยวได้ทุกวัน เราสามารถเชิญกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมงานด้วย ในการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเรา เพราะฉะนั้นงานมันจะยิ่งใหญ่ขึ้นไม่ใช่จัดตามมีตามเกิด นักท่องเที่ยวก็อยากเดินทางมาเที่ยว มากินมาใช้ มาถ่ายรูปสวยๆในเมื่อเราทำโครงสร้างที่ดีมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ปทุมธานีจะเป็นจังหวัดที่คนมาเที่ยวมาพักผ่อนอย่างมากมาย รายได้จากการท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาในจังหวัด แต่สิ่งที่สำคัญเราจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและเรื่องขยะต่างๆที่เกิดขึ้นหลังการมาท่องเที่ยว

ส่วนเรื่องการเกษตร เรามีข้าวของเราเองชื่อข้าวหอมปทุมธานี ที่มีรสชาติที่ดี เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปทุมธานี เราต้องรักษาไว้ และปทุมธานีเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยกล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียว นวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่เรามีอยู่

ส่วนแนวทางการจัดการปัญหาขยะเราต้องผลักดันให้มีโรงงานกำจัดขยะของเราเอง ที่ผ่านมาเราบริหารจัดการโดยการนำไปทึ้งนอกพื้นที่ เช่นไปทิ้งที่อยุธยา แต่ในอนาคตเราต้องบริหารจัดการขยะเอง เพราะเราเป็นเมืองใหญ่มีขยะเกิดขึ้นในแต่ละวันอย่างมากมาย เราต้องคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ทำให้ขยะที่เรามี ก่อประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะนำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้าหรือเอาไปทำปุ๋ย เรื่องการบำบัดน้ำเสียของครัวเรือนก็เป็นสิ่งสำคัญ ให้ท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง

เรื่องความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนต้องเริ่มทำเลย เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่นไฟฟ้าส่องสว่าง ถนนชำรุด ได้สั่งการให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่สำรวจความเสียหาย การชำรุด ว่ามีจุดไหนบ้าง รวบรวมมาส่งให้ผม ผมจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจง ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมก็ต้องปล่อยให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เขาจัดการ เอางบมาซ่อมแซมดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ภาครัฐจะต้องทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน มองปัญหาร่วมกันเพราะมันไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเพื่อให้สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหา ลดลงตามลำดับ ทั้งหมดนี้คือปัญหาของพี่น้องประชาชน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชน

ภาสกร บุญญลักษม์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2510 จบการศึกษาจากระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายภาสกรเริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จากนั้นมาเป็นนายอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ตามด้วยรักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองนนทบุรี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเมืองนนทบุรี ในปี 2554 ตามด้วยตำแหน่งนายอำเภอเมืองพิษณุโลกและได้รับรางวัล ครุฑทองคำ จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเมื่อปี 2558 จากผลงานการจับกุมพ่อค้ายาเสพติดได้อย่างต่อเนื่องจนขยายผลเข้าไปถึงในเรือนจำ ต่อมาในปีเดียวกัน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดจังหวัดกำแพงเพชร

จากนั้นในปี 2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในยุคที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ร่วมในภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่ากระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2563 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แทนนายประจญ ปรัชญ์สกุล ที่ขยับไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สลับกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ และจากการโยกย้ายในครั้งนี้ส่งผลให้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชื่อดังและศิลปินแห่งชาติถึงกับหลั่งน้ำตาโดยให้เหตุผลว่านายภาสกรเป็นคนมุ่งมั่นในการทำงาน ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมมีมติให้นายภาสกร มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีสืบต่อจากนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือผู้ว่าหมูป่าที่เสียชีวิตไป

โดย...พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา