‘ก้าวไกล’ ยื่นกฎหมายแก้ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพิ่มอำนาจลูกบ้านในโครงการจัดสรรตั้งนิติบุคคลได้

‘ก้าวไกล’ ยื่นกฎหมายแก้ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพิ่มอำนาจลูกบ้านในโครงการจัดสรรตั้งนิติบุคคลได้





ad1

‘ก้าวไกล’ ยื่นกฎหมายแก้ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพิ่มอำนาจลูกบ้านในโครงการจัดสรรตั้งนิติบุคคลได้ แก้ปัญหาสาธารณูปโภคขาดการดูแล

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สส.กรุงเทพฯ (มีนบุรี สะพานสูง) และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ (สายไหม) แถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุก แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องถนน ทางเท้า ไฟส่องสว่าง ที่แม้รัฐบาลมีอำนาจฝ่ายบริหาร ก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้ไขกฎหมายผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ  

จึงเป็นที่มาให้พรรคก้าวไกลเสนอยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน มาตรา 44 (1) และ 44/1 จุดประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจให้ลูกบ้านในโครงการจัดสรร ที่ปัจจุบันกว่า 80% ไม่มีนิติบุคคล ทำให้ไม่มีการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของโครงการ คืนอำนาจให้ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร สามารถตั้งนิติบุคคลเพื่อบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของตัวเองได้ โดยไม่ต้องร้องขอจากเจ้าของโครงการเมื่อพ้นกรอบระยะเวลาที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ. ไปแล้ว

โดยหลังจากนี้ ร่างจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 และบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว 

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลอยู่ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการปรับปรุงที่ดินเอกชนนอก พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินได้ทั่วทั้งประเทศ 

ด้านกันต์พงษ์ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก  พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินฉบับเดิมนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และมีการแก้ไขเมื่อปี 2558 สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาสาธารณูปโภค ขยะ พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขหรือจัดการ เจ้าของโครงการไม่ได้เข้ามาดูแล พรรคก้าวไกลจึงต้องการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาทุกข์ให้ประชาชน

ขณะที่ ศศินันท์ กล่าวว่า นอกจากปัญหานิติบุคคล ยังมีกรณีที่ดินชุมชน ที่ไม่สามารถพัฒนาแก้ไขสาธารณูปโภคได้ เนื่องจากติดปัญหาถนนที่ไม่ได้ยกให้เป็นสาธารณะ แม้ถนนเส้นนั้นจะใช้สัญจรกันทุกวัน จนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นถนนสาธารณะ แต่ในความเป็นจริง เป็นทางสาธารณะเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือเป็นที่ดินของเอกชน ทำให้บางครั้งประชาชนต้องควักเงินเรี่ยไรซ่อมแซมถนนเอง ทั้งที่ควรเป็นรัฐเข้าไปดูแล แต่ติดปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่ต้องประสานแก้ไขปัญหานี้