โรงพยาบาลกำแพงเพชร นำร่องใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare พัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
โรงพยาบาลกำแพงเพชร นำร่องใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare พัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สร้างความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการตามความจำเป็นเร่งด่วน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการพัฒนาเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ โดยใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare สร้างสมรรถนะและเทคนิคการทำงานการดูแลทางสังคมในรูปแบบ Social Telecare Sandbox ใน 12 พื้นที่ต้นแบบ โดยที่จังหวัดกำแพงเพชร โรงพยาบาลกำแพงเพชร จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายการดูแลทางสังคมกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อสนับสนุนบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งพบการว่า การนำแพลตฟอร์ม Social Telecare ทำให้ระบบการทำงาน มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเชื่อมโยงระหว่างสหวิชาชีพมากขึ้น และสามารถจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการ รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ตรงประเด็นมากขึ้น
นางสาวกนกวรรณ สุริยาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลกำแพงเพชร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โรงพยาบาลกำแพงเพชรได้นำPlatform Social Telecare ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 100 ราย โดยเลือกเครื่องมือ คือ
1) แบบประเมินปัญหาทางสังคม (SDMA) แล้วจัดกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มระดับสีเขียว ระดับสีเหลือง และระดับสีแดง โดยกำหนด ให้สีเขียวหมายถึงผู้ป่วยไม่มีปัญหาทางด้านสังคมใดๆ กลุ่มสีเหลืองเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางด้านสังคมอยู่ที่ 1-2 ปัญหา ส่วนกลุ่มสีแดงคือจะมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสังคม 3 ข้อขึ้นไป จากนั้นจะนำกลุ่มสีเหลืองและสีแดงมาประเมินต่อด้วยเครื่องมือ
2) แบบประเมินความพร้อมของครอบครัว และ 3) แบบประเมินภาวะความเครียด ก่อนส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยให้กับเครือข่ายบริการในระดับปฐมภูมิซึ่งจะลงพื้นที่ เช่น กรณีถ้ากลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ที่อาจมีภาวะความเครียด จะส่งต่อคลินิกสุขภาพจิตของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลกำแพงเพชร ในการดูแลต่อเนื่อง ซึ่งจะจัดเวทีคืนข้อมูลให้กับทีมสุขภาพชุมชนในการให้ช่วยลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามเคสต่อไป
ทั้งนี้ การใช้ Platform Social Telecare ทำให้เห็นข้อมูล กับทีมสหวิชาชีพดูแลช่วยเหลือของกลุ่มเป้าหมายทำได้รวดเร็วขึ้น ประเมินปัญหาของผู้ป่วยได้รวดเร็ว และทำให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมที่สัมพันธ์กับการดูแลสุขภาพ เช่น อาชีพค้าขายที่ทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ส่งผลให้ควบคุมความดันได้ไม่ดีนัก เมื่อมีทีมสุขภาพชุมชนพูดคุย และให้คำปรึกษา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคลายความเครียด เอาใจใส่สุขภาพตนเองมากขึ้น เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูง และจะได้มีสุขภาพที่ดีพร้อมจะเผชิญสถานการณ์การทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ดีขึ้น
กนกวรรณ สุริยาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลกำแพงเพชร
ด้านนางเสาวภา ศรีภูสิตโต หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวว่า การนำ Platform Social Telecare มาใช้ทำให้สามารถประเมินผู้รับบริการได้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว หลังจากการประเมินยังทำให้ได้ข้อมูลของผู้ป่วยทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลทางสังคม สามารถระบุระดับความเครียด ประเมินความความเร่งด่วนของผู้ป่วย ว่ามีภาวะเครียดในระดับสูง ภาวะเครียดในระดับปานกลาง หรือว่าภาวะเครียดในระดับเล็กน้อย ซึ่งกรณีภาวะเร่งด่วน กลุ่มผู้ป่วยสีแดง ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการแบบได้รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการที่ประมวล และวิเคราะห์ข้อมูล
ขณะที่ นางสโรทร ม่วงเกลี้ยง นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ นักวิชาการประจำโครงการ กล่าวว่าจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการใช้ Platform Social Telecare มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากสหวิชาชีพ คือ การใช้เครื่องมือ แบบประเมินปัญหาทางสังคม(SDMA) ซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นที่จะต้องเป็นให้นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งสามารถที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงตามกระบวนงานสังคมสงเคราะห์ได้ครบถ้วน และ สามารถรับผิดชอบรักษาความลับได้ และบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยให้กับผู้เกี่ยวข้องได้ทราบเท่าที่จำเป็น เพราะบางประเด็นเป็นเรื่องความอ่อนไหว เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และต้องป้องกันไม่ให้เกิดการ”ตีตรา” ผู้ป่วย
สโรทร ม่วงเกลี้ยง นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ
ขณะเดียวกันใน Platform Social Telecare มีแบบประเมินของวิชาชีพอื่น และแบบประเมินตนเองสำหรับผู้ป่วย ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบบริการสำหรับผู้ป่วยได้ทั้งรายบุคคล และกลุ่ม เช่น แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (แบบประเมินตนเองของกรมสุขภาพจิต) แบบประเมินความพร้อมครอบครัว (แบบประเมินของนักสังคมสงเคราะห์) ที่สามารถใช้ร่วมกับสหวิชาชีพอื่น ๆได้