ควบคุม 2 พ่อลูกชาวปัตตานีซักถามค่ายอิงคยุทธบริหารผู้ต้องสงสัยคดีเอี่ยวความมั่นคงชายแดนใต้

ควบคุม 2 พ่อลูกชาวปัตตานีซักถามค่ายอิงคยุทธบริหารผู้ต้องสงสัยคดีเอี่ยวความมั่นคงชายแดนใต้





ad1

วันนี้ (14 มกราคม 66) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ(JASAD)ได้เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์เมื่อเวลา 04.00นของวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง หลายสิบคันรถกระบะ เข้าไปปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่บ้านสายหมอ (แซมอ)ม.6 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว 1. นาย มะหะมะ เจะหลง อายุ 57 ปี อาชีพค้าขาย  และ นาย อันวา เจะหลง อายุ 18 กำลังศึกษา ซึ่งทั้งสองคนเป็นพ่อลูกกัน ไปที่ สภ.หนองจิก เพื่อทำการสอบสวนเพื่อบันทึกทำประวัติก่อนนำตัวทั้งสองเข้าสู่กระบวนซักถามที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งสองพ่อลูกไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประสานงาน (JASAD)
ทางเครือข่ายฯ(JASAD)หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติต่อผู้ถูกเชิญตัว/ควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ/ป.วิอาญาฯโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(Human Dignity)ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเข้าถึงสิทธิฯต่างๆอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมและคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดโดยเร็วที่สุดหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด “ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในครั้งนี้นับได้ว่าอยู่ในช่วงของการเริ่มบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ถึงแม้จะมีการยื้อเวลาของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายแล้วก็ตามจากกรณีที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เนื่องจากยังปัญหาข้อขัดข้อง 3 ด้าน ที่อาจจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม คือ

1.การจัดเตรียมงบประมาณกว่า 3.4 พันล้านบาทในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวและวางระบบ ซึ่งไม่ได้อยู่ในงบประมาณปี 2566
2.ด้านการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย
3.ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนและคลุมเครือในบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีแนวปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลางนั้น

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ จึงได้แสดงท่าทีต่อกรณีการชะลอบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการยื้อเวลาด้วยการอ้างรองบประมาณ และการอ้างความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้กว่าจะผ่านกลไกต่างๆ ก็ใช้เวลามานานแล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่มีประโยชน์กับประชาชนและเจ้าหน้าที่เองเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสายตาประชาชนมากขึ้นด้วย

“เราเห็นว่าการเร่งบังคับใช้กฎหมายโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้มาตรฐานในระดับสากล โดยเฉพาะการเคารพสิทธิมนุษยชน ป้องกันการถูกครหาเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาตลอด” ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าว