ผู้เลี้ยงหมูทั่วไทย “ลุกฮือ” ทวงถามรัฐ ปราบหมูเถื่อนให้สิ้นซากใช้เวลาอีกนานไหม?

ผู้เลี้ยงหมูทั่วไทย “ลุกฮือ” ทวงถามรัฐ ปราบหมูเถื่อนให้สิ้นซากใช้เวลาอีกนานไหม?





ad1

เกษตรกรเลี้ยงหมูของไทย “จะไม่ทน” ร้องรัฐกวาดล้างหมูเถื่อนเคร่งครัดจับกุมต่อเนื่องทุกวัน หวั่นไทยกลายเป็นแหล่งรวมชิ้นส่วนหมูที่เป็นอาหารขยะของต่างชาติ กระทบผู้บริโภคเสี่ยงสารเร่งเนื้อแดงก่อมะเร็ง ผู้เลี้ยงเสี่ยงเชื้อปนเปื้อนโรค ASF สร้างปัญหาในประเทศระยะยาว

นายประสิทธิ์ หลวงมณี เจ้าของบูรพาฟาร์ม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า นับแต่การระบาด ASF ในประเทศที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ผู้เลี้ยงยังไม่มีความมั่นใจในการเลี้ยงเท่าใดนัก  ทำให้มีการนำหมูเข้าเลี้ยงในจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิมมาก โดยที่ฟาร์มของตนจากเดิมเคยเลี้ยงแม่พันธุ์ที่ 700-800 ตัว ปัจจุบันก็เลี้ยงเพียง 100 กว่าตัว  เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงขณะนี้ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม  ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูของไทยมีราคาที่สูงประมาณ 210-220 บาทต่อกิโลกรัม  แต่กลับมีเนื้อหมูเถื่อนและชิ้นส่วนลักลอบเข้ามาขายในราคาถูกมากเพียง 135 บาทต่อกิโลกรัม  นั่นหมายความว่าจะมีราคาหมูหน้าฟาร์มเพียง 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ต้นทุนในต่างประเทศจะต่ำในระดับนี้

“ขณะนี้ผู้เลี้ยงได้ยกระดับการเลี้ยงด้วยการทำระบบไบโอซีเคียวริตี้ เพื่อป้องกันโรค ทำให้มีต้นทุนสูงมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะเลี้ยงในจำนวนมาก  ยิ่งมีการลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศ มีความเสี่ยงที่จะนำ ASF เข้ามาด้วย  รวมถึงการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง  ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับผู้เลี้ยง แต่ยังรวมถึงผู้บริโภค  จึงต้องการให้ภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร กวดขันการนำเข้า ด้วยการตรวจอย่างจริงจัง แม้จะมีการสำแดงเป็นอาหารทะเลก็ตาม” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า เนื้อหมูและชิ้นส่วนที่มีการลักลอบนำเข้ามา เป็นชิ้นส่วนที่ต่างประเทศไม่บริโภค  จึงไม่ต่างกับการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหล่านั้น ทำให้เกษตรกรมีความกังวลกับความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดซ้ำในหมู ซึ่งไม่เพียงเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง  แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย  เนื่องจากเนื้อหมูและชิ้นส่วนเครื่องในเถื่อนดังกล่าว อาจปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

 

ด้านนางฉวีวรรณ คีนซึล เจ้าของคานาอันฟาร์ม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด  กล่าวว่า ฟาร์มเพิ่งกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 2-3 เดือน โดยเริ่มที่จำนวน 20 กว่าตัว  จากก่อนหน้านี้เคยเลี้ยง 200 กว่าตัว เนื่องจากยังไม่กล้าเลี้ยงจำนวนมาก ยิ่งมีการนำเข้าหมูเถื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง และขายในราคาที่ถูกมาก ทำให้ไม่มั่นใจในอาชีพที่ทำ

“ผู้เลี้ยงอึดอัดมาก หากปล่อยให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนต่อไป จะไม่เป็นผลดีกับผลผลิตหมูไทย เพราะไม่รู้ว่าจะนำผลผลิตที่เลี้ยงได้ไปขายที่ไหน  จึงอยากให้ภาครัฐช่วยสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าอย่างจริงจัง  เนื่องจากหากเนื้อหมูและชิ้นส่วน ปนเปื้อน ASF มาด้วย  เชื้อASF นั้นจะติดค้างอยู่ในห้องเย็นได้เป็นเวลานาน กลายเป็นการนำขยะกับเชื้อโรคเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงอย่างแน่นอน” นางฉวีวรรณ กล่าว

ก่อนหน้านี้ น.สพ.วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าหรือที่ตลาดเรียก "หมูกล่อง" ที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า "ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน" มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้า

ขณะที่นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ย้ำว่า ทุกวันนี้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว  ทำให้มีต้นทุนที่สูง โดยไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-101 บาทต่อกิโลกรัม  ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ   แต่กลับมีเนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในราคาที่ต่ำมาก   เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย ที่ถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยได้     จำเป็นที่ภาครัฐต้องหาวิธีที่เข้มงวดในการกำจัดขบวนการดังกล่าว./