ผลหมากอนาคตสดใส!จีนลุยตั้งโรงงานที่พัทลุง สงขลา ยะลา ระยอง แปรรูปวันละ 500 ตัน ส่งออกแดนมังกร

ผลหมากอนาคตสดใส!จีนลุยตั้งโรงงานที่พัทลุง สงขลา ยะลา ระยอง แปรรูปวันละ 500 ตัน ส่งออกแดนมังกร





ad1

พัทลุง-“จีน”ลุยลงทุน  ตั้งโรงงานหมาก ที่ จ.พัทลุง สงขลา ยะลา ระยอง แปรรูปวันละ 500 ตัน ส่งออกประเทศจีน พร้อมนักลงทุนอินโดนีเซียซื้อพื้นที่ จ.พัทลุง

ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ ตัวแทนสมาคมการค้าส่งเสริมการปลูกและส่งออกหมากพลู จ.พัทลุง และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  พร้อมด้วยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ได้ทำการณรงค์ให้ความรู้เรื่องตลาดหมาก การปลูก ผลผลิตและรายได้หมากให้กับตัวแทนเกษตรกร ที่ทำการเทศบาลท่าชี อ.นาสาร และที่ทำการกำนันตำบลลำพูน จ.สุราษฎร์ธานี  ที่ทำการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังและกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ภายหลังจากรณณรงค์ในพื้นที่ จ.พัทลุง ไปแล้ว

โดยหมากสุก ส่งออกตลาดประเทศอินเดีย และหมากอ่อนส่งออกประเทศจีน ตอนนี้รับซื้อจำนวนไม่จำกัด ทั้ง 2 ตลาดเป็นตลาดใหญ่ของโลกที่นิยมบริโภคหมากทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบริโภค และเป็นองค์ประกอบสำคัญทางพิธีทางศาสนา ฯลฯ 

สำหรับหมากอ่อน ขณะนี้นักลงทุนประเทศจีนและประเทศอินโดนีเซีย ได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปหมาก และบางโรงงานได้รับซื้อและแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยภาพรวมที่ผลิตแปรรูปแล้ว เช่น ที่ จ.ระยอง  ที่ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  อ.บางกล่ำ  จ.สงขลา  และที่  อ.ยะหา จ.ยะลา

ส่วนที่ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง นักลงทุนจากประเทศอินโดนีเซีย ได้เข้ามาลงทุนซื้อพื้นที่ไว้แล้ว และนักลงทุนจีน ได้มาเช่าโกดัง เพื่อทำเป็นโรงงานแปรรูปผลิตหมากอ่อนเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา โดยที่เดินเครื่องดำเนินการแล้ว ประมาณ 500 ตัน / วัน 

ดร.สมบัติ กล่าวว่า จากการรณรงค์ครั้งนี้ ประมาณว่าจะมีเกษตรกรร่วมปลูกหมากประมาณ 20,000 ไร่ โดย กยท.เป็นเจ้าภาพดำเนินการในโครงการสงเคราะห์ปลูกโค่นยางทดแทน โดยได้ทุนสงเคราะห์ประมาณ 1,400 บาท / ไร่ พร้อมให้บริการต้นกล้า โดยจะปลูกยางร่วมกับหมากหรือจะปลูกเชิงเดี่ยว โดยหากปลูกในปี 2565 ก็จะให้ผลผลิตอีก 3 ปีข้างหน้า

ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ปลูกหมากโดยต้นทุนการผลิตไม่สูง เพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ย ใช้น้ำ ดังที่ผ่านมาโดยปล่อยให้ปลูกขึ้นและได้ผลผลิตตามธรรมชาติ แต่ต่อไปจะต้องมีการดูแลรักษาให้ได้คุณภาพ ต้องมีการพัฒนาบำรุงใส่ปุ๋ย น้ำ ตามที่ตลาดต้องการโดยใช้ต้นทุนไม่มาก “ต้องปลูกหมากให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ โดยจะได้ราคาที่ดี 

เช่น หมากคุณภาพจะได้ราคาประมาณ 120,000 บาท / ปี / ไร่ เมื่อเทียบกับยางพารา ประมาณ 12,000 บาท / ปี ปาล์มน้ำมันประมาณ 45,000 บาท / ปี ในขณะต้นทุนปาล์มน้ำมันประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น”

ดร.สมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มได้จดทะเบียนตั้งสมาคมการค้าส่งเสริมการปลูกและส่งออกหมากพลู ที่ จ.พัทลุง โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งจำนวน 3 คน มี ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ นายฤทธิรงค์ กุลประเสริฐ และนายณรงค์ ดุษฎี  โดยยังไม่คัดเลือกคณะกรรมการ นายกสมาคมในขณะนี้  โดยเป้าหมายจะทำหน้าที่ประสานงานให้กับกลุ่มต้นน้ำเกี่ยวกับหมาก.