คณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยเรียนรู้วัฒธรรมอันดีงามคนอำนาจเจริญ

คณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยเรียนรู้วัฒธรรมอันดีงามคนอำนาจเจริญ





ad1

อำนาจเจริญ-คณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยเดินทางเรียนรู้ สืบสาน ประเพณี วัฒธรรมอันดีงามของคนอำนาจเจริญ ในพื้นที่อำเภอเสนางคนิคมและอำเภอชานุมาน

   
วันนี้ (24 มกราคม 2565 ) ผู้เข้าประกวดนางสาวไทย ทั้ง 24 คน  ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมการเก็บตัวของกองประกวดนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 ที่ จังหวัดอำนาจเจริญ  ได้เดินสายเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของคนอำนาจเจริญ ในพื้นที่อำเภอเสนางคนิคมและอำเภอชานุมาน โดยมีส่วนราชการและชาวอำนาจเจริญให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่นตามวิถีคนอีสานอำนาจเจริญ
     

โดยในช่วงเช้าได้เดินทางขึ้นวัดภูพนมดี เจดีย์หินพันล้านก้อน บ้านนาอุดม  ตำบลหนองไฮ  อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยรถสองแถว เพื่อชมความงดงามของเจดีย์หินพันล้านก้อนและเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้เตรียมการต้อนรับคณะนางสาวไทยอย่างอบอุ่นมีการแสดงการฟ้อนรำวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น พร้อมนำผู้เข้าประกวดนางสาวไทยทั้ง 24 กราบไหว้พระศรีรัตนตรัยรัตน์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดและร่วมศึกษาและนำหินมาติดบนกำแพงตามรูปแบบวิธีการที่ชาวบ้านเคยสร้างเจดีย์หินพันล้านก้อนแห่งนี้  และร่วมกันบวชต้นไม้เพื่อรักษาผืนป่าและธรรมชาติให้สวยงาม  อีกทั้งเรียนรู้วิถีชาวบ้านอื่นๆอีกด้วย  เช่น การทำข้าวจี่ และร่วมรับประทานอาหารตามแบบฉบับอาหารพื้นถิ่นของคนอีสานอำนาจเจริญ 

        
สำหรับเจดีย์หินพันล้านก้อนสร้างอย่างสวยงามตั้งอยู่บนภูหินทราย วัดภูพนมดี ตระหง่านเด่นเห็นยอดแหลมจากด้านล่าง ห้อมล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เป็นป่าชุมชนที่มีความสมบูรณ์เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยปูนคอนกรีตแล้วนำหินสีเทาสีขาวก้อนเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วนมาตกแต่งติดเรียงรายตามผนัง เพดาน รูปปั้นต่างๆ ให้เป็นลวดลายดูสวยงาม จนกลายเป็นเจดีย์หินพันล้านก้อน มีความสูงกว่า 30 เมตร ฐานกว่า 20 เมตร รอบพื้นที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นทั้งสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและปฏิบัติธรรม ปัจจุบันวัดภูพนมดีได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา นอกจากเจดีย์หินพันล้านก้อน ยังเป็นที่ประดิษฐานพระศรีรัตนตรัยรัตน์ พระพุทธรูปสีขาวริมหน้าผา พร้อมสิ่งเคารพศักดิ์สิทธิ์มากมาย

 
   
ในส่วนประวัติการก่อสร้างเจดีย์หินพันล้านก้อน  เล่ากันว่า ในปีพ.ศ.2530 พระอาจารย์ปัญญา จากวัดสุปัฏวนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี ได้มาปฏิบัติธรรม ร่วมกับพระอาจารย์เพียว พระอาจารย์โจ ระหว่างวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์ปัญญา นิมิตอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งเหล่าเทวดา ต้องการให้สร้างสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนำเรื่องไปปรึกษาญาติโยม จึงให้สร้างสิ่งมงคลสำหรับกราบไหว้บูชา และควรสร้างเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจด้วย โดยคณะสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองไฮ ร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธรูปปางมารวิชัย สีขาวทั้งองค์ บนหน้าผา

 ชื่อว่า พระศรีรัตนตรัยรัตน์ และสร้างบันได 245 ขั้น เพื่อเป็นทางขึ้นลงของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ต่อมา ปี พ.ศ.2542 พระอาจารย์ปัญญา เจ้าอาวาสองค์แรก ร่วมกับชาวบ้าน ก่อสร้างเจดีย์ ทำจากหินภูเขาสีขาว ที่ชาวบ้าน คัดแยก ขนาด ตามต้องการ ติดกับโครงสร้างรูปร่างเจดีย์ นับพัน นับล้านก้อน กลายเป็นรูปร่างเจดีย์หินพันล้านก้อน มีความสูง 30 เมตร ฐานกว้าง 20 เมตร ซึ่งภายในเจดีย์ เป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีทางศาสนา และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปหล่อพระเกจิอาจารย์ชั้นนำ ที่มรณภาพไปแล้ว เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชา เป็นต้น และภาพเขียนประวัติพระพุทธเจ้าอย่างสวยงาม อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

จากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางไป ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภูไท บ้านคำเดือย ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เพื่อเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมความเป็นมาของชาวภูไทบ้านคำเดือย ที่ยังคงความเป็นวิถีชาวบ้านภูไทที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษมาได้อย่างเหนียวแน่น โดยเรียนรู้เรื่องการทอผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ตั้งแต่การเก็บดอกฝ้ายมาทำเป็นเส้นด้าย จนถึงกระบวนการถักทอและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่สวยงาม

เช่น เสื้อผ้า ผ้าถุง สไบ กระเป๋า เป็นต้น ซึ่งแต่ละกระบวนการผลิต ชาวบ้านตั้งใจทำด้วยความพิถีพิถันทุกขั้นตอนและใช้กระบวนการผลิตจากธรรมชาติ จึงทำไห้ผ้าที่ได้มีความสวยงามโดดเด่น นอกจากการเรียนรู้ชาวบ้านคำเดือยได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมฟ้อนรำตามแบบฉบับพื้นถิ่นภูไทต้อนรับคณะผู้เข้าประกวดนางสาวไทยและได้ร่วมฟ้อนรำกับคณะนางรำอย่างสนุกสนานตามแบบฉบับของชาวอีสานอำนาจเจริญ

ทิพกร  หวานอ่อน  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  รายงาน