"ธีรัจชัย" ถามกระบวนการยุติธรรมสร้างศรัทธาหรือไม่ สั่ง "นายเนตร" พ้นราชการ แต่ยังกินบำเหน็จบำนาญ

สั่ง "นายเนตร" พ้นราชการ แต่ยังกินบำเหน็จบำนาญ

"ธีรัจชัย" ถามกระบวนการยุติธรรมสร้างศรัทธาหรือไม่ สั่ง "นายเนตร" พ้นราชการ แต่ยังกินบำเหน็จบำนาญ





ad1

19 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ออกจากราชการ สาเหตุประมาททำราชการเสียหายอย่าร้ายแรง แต่ไม่พบการทุจริต โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นมติที่แทบไม่มีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกลงโทษ อีกทั้งยังมีลักษณะที่ค้านต่อรายงานผลสอบสวนของคณะทำงานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คือคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แต่งตั้ง นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

นายธีรัจชัย กล่าวว่า "ถ้ากระบวนการยุติธรรมเราทำทุกอย่างที่ตรงไปตรงมา ไม่มีระบบอุปถัมภ์ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ผมเชื่อว่าการสร้างความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเราจะกลับฟื้นคืนมา ซึ่งไม่เฉพาะอัยการฯ แต่ทุกองค์กร  แต่ยังมีอีกจุดคือในส่วนความผิดทางอาญา เมื่อนายเนตรมีความผิดให้ออกจากราชการแล้ว คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็จะต้องดำเนินการต่อไป" นายธีรัจชัย กล่าว

นายธีรัจชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับกมธ.ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจะทำหน้าที่ต่อไป และมองว่าต้องถูกลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่พิธีกรรม  โดยมติของ ก.อ.บอกว่าใช้ดุลพินิจไม่รอบครอบอย่างร้ายแรงในการสั่งคดีเป็นผลให้นายเนตรออกจากราชการ นับแต่วันที่ยื่นลาออกแต่ยังสามารถรับบำเน็จ บำนาญได้อยู่นั้น

  "มติอย่างนี้มีผลต่อโทษ หรือผลร้ายต่อนายเนตรอย่างไร นอกจากคำสั่งให้ออก เพราะบำเน็จ บำนาญยังได้เหมือนเดิม การมีคำสั่งอย่างนี้จะสร้างความศรัทธาต่ออัยการซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ กลางน้ำหรือไม่  และอยากถามว่าประชาชนสบายใจหรือกับมติของก.อ." นายธีรัจชัย กล่าว

นายจีรัจชัย ได้กล่าวย้ำอีกว่า นอกจากนี้ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถติดตามตัว นายวรยุทธ อยู่วิทยา มาดำเนินคดีได้ ทั้งนี้ คณะ กมธ.จะยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของประชาชนได้