ในสยามนี้มีเรื่องเล่า..แห่งที่สุด บรมครูศิลปะไทย     

ในสยามนี้มีเรื่องเล่า

 ในสยามนี้มีเรื่องเล่า..แห่งที่สุด บรมครูศิลปะไทย     





ad1

(คอลัมนิสต์)             

ในสยามนี้มีเรื่องเล่า..                                                  แห่งที่สุด                                                                    บรมครูศิลปะไทย                                            โดย...ดร.สุวิจักขณ์ ภานุสรณ์ฐากูร

 ขอเกริ่นก่อนนะครับทุกท่าน สยามนี้มีเรื่องเล่า เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว ประมาณเดือนมีนาคมเรื่อยมา 
     ตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ ด้วยความตั้งใจของผม อีกทั้งด้วยแรงใจที่ส่งมา ทำให้เกิดงานเขียนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 357 แล้ว 
     หากนำเอางานเขียนทั้งหมดมารวมกัน ผมว่าน่าจะได้สักพันหน้าหรือกว่านั้น ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามผลงาน และหวังว่าทุกท่านจะชื่นชอบ และติดตามกันตลอดไปนะครับ 
     หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยากจะแนะนำ เขียน Comment ไว้นะครับ ผมอ่านทุก Comment ครับ
     สำหรับ บางท่านที่ขอเรื่องราวบางอย่างอยากให้ผมได้สืบค้น อย่างเช่นเรื่องของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์กี่พระองค์หนึ่ง ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ควบคู่กับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นั้น...
     ผมมีแต่เพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งในตอนหน้านะครับ  
     สำหรับตอนนี้ ผมตั้งใจนำเสนอ เรื่องราวที่เกี่ยวกับ บรมครูแห่งศิลปะไทย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยครับ

     พระองค์เป็นบุตรในรัชกาลที่ 4 เป็นพี่น้อง แต่ต่างพระมารดากับ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 
     ซึ่งพระองค์นั้น ก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวง ให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญสำคัญมากมายหลายตำแหน่ง 
     พระองค์เป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด ในโอรสและธิดาของ รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์คุณูปการทางด้านของศิลปะมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
      ผมมีผลงานของพระองค์ ให้ชมกันด้วย ต้องขอบอกว่าเป็นผลงานของพระองค์เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ซึ่งหาชมได้ยาก
      แต่ผมเองโชคดีที่ได้เห็นผลงานดังกล่าว ซึ่งจัดทำเป็นหนังสือรวบรวมเอาผลงานของพระองค์เก็บไว้ ผมเองได้มีโอกาสเห็นหนังสือเล่มนี้ตอนที่ผมพักอยู่ที่วัดไทยในต่างแดน อยู่ในประเทศอเมริกา มลรัฐ michigan 
     ตอนที่ได้เห็นนั้นก็อึ่งอยู่เหมือนกัน พระอาจารย์บอกว่า มีคนถวายมาให้ ผมเองเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาทางด้านของประวัติศาสตร์อยู่แล้วรวมถึงศิลปกรรมไทย จึงอดไม่ได้ที่จะชื่นชมอยู่เป็นเวลานาน อีกทั้งขอพระอาจารย์ถ่ายรูปเก็บไว้ในเครื่องโทรศัพท์ด้วย
นั่นจึงเป็นที่มา ซึ่งผมได้มีรูปภาพในฝีพระหัตถ์ของพระองค์นำมาให้ชมกัน  
     พระองค์เป็นใครและมีความสำคัญอย่างไรในแผ่นดินรัตนโกสินทร์นี้ เรามาทำความรู้จักกับพระองค์กันเลยนะครับ

     พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 – 10 มีนาคม พ.ศ. 2490) มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย
     ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระชนกนาถโดยมีพระราชหัตถเลขา ดังนี้...
     "สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูติจากหญิงแฉ่พรรณรายผู้มารดา ในวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุนเบญศกนั้นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตนยศบริวารศฤงคารศักดานุภาพ ตระบะเดชพิเศษคุณสุนทรศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลพิบุลยผลทุกประการ เทอญ"


     เมื่อครั้งที่สมเด็จพระชนกนาถสวรรคต พระองค์มีพระชันษาเพียง 5 ปี แต่ทรงจำถึงตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระราชบิดาทรงประทับนั่งที่เก้าอี้ที่หมุนได้ ทรงฉลองพระองค์สีแดงสด"
     ในปี พ.ศ. 2428 ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ 
     นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า หม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษนั้น นับเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) 
     ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษจึงมีพระอัยการ่วมกับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ 
     พร้อมกันนี้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา ด้วย
     นอกจากนี้พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2430
     หลังจากที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ จนกระทั่งได้รับพระราชทานพระยศเป็น พลโท เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2444 
     พระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวง" ได้ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งเป็นพระโสทรานุชา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2448
     เมื่อ พ.ศ. 2452 ก็ในหลวงรัชกาลที่ 5 จะเสด็จสวรรคตเพียง 1 ปี พระองค์ประชวรด้วยโรคพระหทัยโตขณะที่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ทรงขอ... 
     จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ด้วยพระโรคที่พระองค์เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์ทรงสามารถรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้ แต่พระองค์ก็ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงออกแบบงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ เช่น พระโกศพระบรมอัฐิและพระวิมานทองคำลงยาราชาวดีสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น 
     ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ขึ้นเป็นกรมพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ มหามกุฏพงศ์นฤบดินทร ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ ปรเมนทรราชปิตุลา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัติ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร
     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
     วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเป็นกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มหามกุฎพงศนฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ อัฐเมนทรราชอัยยกา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธิวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตน์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร ทรงศักดินา 50000
     ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการจนพระกำลังพระปัญญาเสื่อมลงทุกที ด้วยทรงพระชราด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 จึงสิ้นพระชนม์โดยสงบ ขณะมีพระชันษาได้ 83 ปี 


     เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการไว้ทุกข์ในพระราชสำนักมีกำหนด 15 วัน มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และนับเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชนม์ชีพมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร...
     ครับ เราจะเห็นว่า พระองค์นั้นได้สร้างคุณประโยชน์คุณูปการให้ประเทศชาติมาอย่างมากมายตั้งแต่ พระองค์ ยังมีพระชนมายุในวัยหนุ่ม จนกระทั่ง พระชนมายุชราภาพ  
     พระองค์ก็ยังคงทำงาน ฝากผลงานไว้อย่างมากมาย อีกครั้งได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญสำคัญอันเกี่ยวกับการปกครองประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด 
     ผมเองผู้จัดทำบทความในครั้งนี้ ขอกราบพระบาท รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาติและแผ่นดิน
     ขอบุญบารมีแห่งพระองค์ ช่วยปกปักรักษาประเทศชาติและประชาชน ให้อยู่อย่างสุขสวัสดิ์ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย และประเทศไทยอยู่ยั้งยืนยงตลอดกาลนาน
     ปล.ผมได้นำรูป ที่ผมได้ถ่ายเอาไว้ ตอนที่ไปเดินหาของขวัญให้กับลูกศิษย์คนหนึ่ง ร้านที่ผมไปเดินนั้นเป็นร้านขายของเก่า ซึ่งผมได้พบกับ พระรูปของพระองค์ ปั้นเพียงครึ่งองค์  
     ผมเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นรูปปั้น ของใคร ผมอยากจะนำมาบูชาไว้ที่บ้าน หากเป็นไปได้ถ้าผมได้มีโอกาสกลับไปที่ร้านขายของเก่านั้นและ ยังพบรูปปั้นนั้นอยู่...