อลังการ!สงกรานต์เมืองพระประแดง สัมผัสมนต์เสน่ห์วัฒนธรรมมอญ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น


วธ. ชวนเที่ยวสงกรานต์เมืองพระประแดง สัมผัสมนต์เสน่ห์วัฒนธรรมมอญ ที่หาชมได้ยาก กินกาละแม เล่นสะบ้ารามัญ การละเล่นพื้นบ้านอันทรงคุณค่า สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น สานสัมพันธ์และสร้างความสามัคคี อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาวมอญสืบต่อไป
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568 อย่างเป็นทางการ ณ ปะรำพิธีเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยคู่สมรส และนายพงศกร รัตนเรืองวัฒนา ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ ภาคีเครือข่ายทางด้านวัฒนธรรม เข้าร่วมงาน และมีนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าศาลจังหวัดพระประแดง อัยการจังหวัดพระประแดง หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการ ให้การต้อนรับฯ
ช่วงพิธีเปิดงาน ประธานในพิธี สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 2 รับชมการแสดงชุด วิไลเลิศล้ำ อัตลักษณ์พระประแดงจากนั้น นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง กล่าวรายงานนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (ประธานในพิธี) กล่าวเปิดงาน ร่วมตัดแพรป้าย เปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจําปี 2568 และร่วมประเพณีปล่อยนก ปล่อยปลา สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ รับชมการสาธิตและร่วมบ่อนสะบ้ารามัญ ชมสาธิตการกวนกาละแม อย่างอบอุ่นชื่นมื่น
จากนั้น ประธานในพิธี และแขกผู้มีเกียรติ ไปยังบริเวณเวทีท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองพระประแดง เพื่อทําการปล่อยขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง โดยประธานในพิธี ลั่นฆ้องเพื่อปล่อยขบวนแห่ เริ่มเคลื่อนขบวนจากจุดตั้งขบวน ไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ผ่านวัดกลางเลี้ยวขวาแยก 86 ไปตามเส้นถนนพระราชวิริยาภรณ์และเลี้ยวขวาบริเวณหน้าวัดไพชยนต์ฯ ข้ามสะพานคลองลัดหลวง เลี้ยวซ้ายเข้าสู่พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐารามฯ
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand" เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยกำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่ 17 จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และผู้รักในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จะได้สัมผัสวิถีชีวิตมอญโบราณผ่านประเพณีสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ ในงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเชื้อสายมอญ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาติ
นายพลภูมิ กล่าวต่อว่า สงกรานต์พระประแดง เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในเขตพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน โดยมีทั้งพิธีกรรมทางศาสนา ขบวนแห่สุดอลังการ และการละเล่นพื้นเมืองที่หาดูได้ยาก ทั้งนี้ สงกรานต์พระประแดง เดิมมีชื่อเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” ซึ่งมีความแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์ทั่วไปโดยที่จะจัดงานช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือแทนที่จะจัดในวันที่ 13 - 15 เมษายน ก็จะจัดในช่วงวันอาทิตย์ถัดมาจากวันสงกรานต์อีกหนึ่งสัปดาห์ (ประมาณวันที่ 20 - 27 เมษายน)
นอกจากนี้ สงกรานต์พระประแดงถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญหรือที่เรียกว่าชาวไทยรามัญ (Thai Raman) ที่อาศัยอยู่ใน “เมืองนครเขื่อนขันธ์” หรือเมืองพระประแดงในปัจจุบัน นับเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้วที่ชาวมอญได้มาพักพิงและอาศัยอยู่ที่ปากลัด พร้อมทั้งสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้ อันเป็นการสานสัมพันธ์และสร้างความสามัคคีระหว่างชาวมอญทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสพบปะใกล้ชิดในหมู่ญาติเพื่อนพ้องน้องพี่อย่างสนุกสนาน พร้อมได้สร้างบุญสร้างกุศลด้วยการทำบุญอย่างใหญ่ในรอบปี เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาวมอญสืบต่อไป
สำหรับการจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568 ในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 โดยวันที่ 25 เมษายน มีการแสดง แสง สี เสียง อันน่าตื่นตาตื่นใจ ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวมอญอย่างลึกซึ้ง มีการสาธิตกวนกาละแม (ของดีเมืองพระประแดง) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า สาธิตการละเล่นสะบ้ารามัญ ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านอันทรงคุณค่าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และตามหมู่บ้านรามัญต่าง ๆ ในชุมชนเขตเทศบาลเมืองพระประแดง การแสดงวงดนตรีพื้นบ้านอันสนุกสนานของชาวมอญในพื้นที่ การบรรเลงเพลง “ตะลุมมอญซ่อนผ้า” และการประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย ประจำปี 2568 วันที่ 26 เมษายน มีการแสดงดนตรี ณ เวทีท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองพระประแดง พร้อมทั้งการแสดง แสง สี เสียง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า
ตลอดจนการสาธิตการกวนกาละแม และการละเล่นสะบ้ารามัญ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และตามหมู่บ้านรามัญต่าง ๆ ในชุมชนเขตเทศบาลเมืองพระประแดง และวันที่ 27 เมษายน มีพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568 อย่างเป็นทางการสุดยิ่งใหญ่ ณ ปะรำพิธีเทศบาลเมืองพระประแดง พร้อมด้วยพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ (รัชกาลที่ 2) ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งพิธีการดังกล่าวมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป การปล่อยนก-ปล่อยปลา การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การรับชมละเล่นสะบ้า การรับชมการสาธิตวิธีกวนกาละแม การรับชมขบวนแห่สงกรานต์พระประแดง และการแสดงมินิคอนเสิร์ต (Mini Concert) จากคุณนิภาภรณ์ ฐิติธนการ หรือ “ซานิ AF” ซึ่งกิจกรรมจากทั้ง 3 วันนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้เปิดประสบการณ์ใหม่ทางวัฒนธรรม ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมอญ และมีความสุขสนุกสนานพร้อมเก็บภาพความทรงจำอย่างประทับใจ
สุดท้ายนี้ นายพลภูมิ ฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก "สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต" ทั้งนี้ รัฐบาล และทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ โดยจัดงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สงกรานต์และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน
และมีความคาดหวังผลในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ให้คนไทยทั่วโลกภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้จากงานเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ ได้ถึง 26,500 ล้านบาท อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานถึง 476,000 คน และนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม 4,418,500 คน