พลังแห่งการสานต่อ หอการค้าน่านยุคใหม่ “วัชรี พรมทอง ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน” ขับเคลื่อนด้วยแผนแม่บทสู่การปฏิบัติจริง และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน"


หอการค้าจังหวัดน่าน มีแผนแม่บทที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดน่านในภาพรวม ซึ่งแผนแม่บทนี้ได้รับการสืบทอดและผลักดันต่อเนื่องมาจาก นายศรีรุ่ง รัตนศิลา (อดีต)ประธานหอการค้าน่าน โดยมี 4 เรื่องหลักที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาจังหวัด เรื่องแรกคือ “ด่านชายแดนห้วยโก๋น” ตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ผลักดันกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประธานหอการค้าคนแรก จนมาถึงรุ่นของประธานฯ แอ๋ว หรือ นางสาววัชรี พรมทอง ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดน่าน คนที่ 11 ปัจจุบันด่านชายแดนห้วยโก๋นอยู่ในขั้นตอนของการของบประมาณเพื่อสร้างหน้าด่าน และคาดว่าจะสำเร็จในเร็ววันนี้ เรื่องที่สองคือ “สะพานปากนาย” ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ กับอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ซึ่งขณะนี้ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว
เรื่องที่สามคือการพัฒนา “โครงการอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง” ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมู่ที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกุ๋ย ตำบลเมืองจัง ตำบลภูเพียง จังหวัดน่าน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำยาว (ตะวันตก) ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำยาว(ตะวันออก) ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน และที่เพิ่มล่าสุด คือ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำเหล่านี้จะทำให้น่านเป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมผลักดันเกษตรกรรมในพื้นที่ห่างไกล ทั้งไม้ยืนต้น เช่น ชา กาแฟ โกโก้ และพืชผักระยะสั้น อีกทั้งยังลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อีกด้วย
อีกเรื่องที่ผลักดันคือ เรื่องสนามบินน่าน ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของจังหวัด ในเรื่องของการขับเคลื่อน น่านเป็นเมืองมรดกโลกที่พ่วงกันกับเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งน่านของเราจริงๆขาดในเรื่องของสนามบิน และสนามบินเดิมมีระยะรันเวย์สั้น ไม่สามารถจะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ เราก็ผลักดันให้จังหวัดทำเรื่องเข้าไปที่ส่วนกลางแล้ว ว่าขอเป็นการสนับสนุนในเรื่องของการเวนคืนที่ดินแล้วก็ขยายรันเวย์สนามบิน แล้วก็เพิ่มในส่วนของการเป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งพอเราเป็นสนามบินนานาชาติแล้ว จะมีหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรวจคนเข้าเมือง ด่านกักกันสัตว์ ก็เข้ามาตั้งสำนักงานในสนามบิน และการที่เราเป็นสนามบินนานาชาติ ก็จะทำให้เราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นเที่ยวบินตรง ในอนาคตอาจจะเป็นเที่ยวบินจากหลวงพระบาง มาเชื่อมที่จังหวัดน่านได้เลย ตรงนี้จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่หอการค้าจะผลักดัน ก็จะทำในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง ในปี 2568-2569 ที่จะเกิดขึ้นนี้
สำหรับทิศทางในปี 2568-2569 ยังไม่ได้สรุปว่าจะผลักดันเรื่องใดเป็นพิเศษ ต้องรอประชุมกรรมการหอการค้าในการนัดแรก เพื่อพิจารณาว่าใน 4-5 เรื่องหลักนี้ เรื่องใดควรผลักดันก่อน โดยวางแผนจะเดินหน้าเรื่องละ 1-2 เรื่องต่อปี และติดตามผลให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
อีกหนึ่งแนวทางที่ประธานฯแอ๋ว ให้ความสำคัญคือ “การพัฒนาผู้ประกอบการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัดในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการแปรรูปและพัฒนาธุรกิจ โดยมองว่าการทำงานให้หอการค้าคือการเสียสละ ดังนั้นธุรกิจส่วนตัวต้องเข้มแข็งก่อนจึงจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ จากแนวคิดนี้ แอ๋วได้นำไปพูดคุยหารือกับทางวิทยาลัยชุมชนเพื่อร่วมกันออกแบบ “หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ” โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นหลักสูตรอนุปริญญาตรีในอนาคต แต่เริ่มต้นปี 2568 นี้ จะมีการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมงก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสรุปเนื้อหาที่เหมาะสม เบื้องต้นจะเน้นในด้านการตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภค
แอ๋วกล่าวเสริมว่า จังหวัดน่านมีปัญหาที่ชัดเจนคือ "ผลิตได้แต่ขายไม่ออก" เพราะขาดการวางแผนการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบมืออาชีพ ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และผู้ประกอบการแล้ว หอการค้ายังดูแลในทุกมิติ ทั้งการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งแอ๋วกล่าวอย่างถ่อมตนว่า ตนเองไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง แต่หอการค้ามีทีมงานที่เชี่ยวชาญในหลายด้าน โดยเฉพาะทีมรองประธานในปีนี้ที่เรียกว่า “ตัวจริงเสียงจริง” พร้อมจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ของหอการค้าอย่างเข้มแข็งต่อไป
ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน