‘ภาษีทรัมป์’ มาตรการป่วนการค้าโลก ที่ทุกประเทศไม่เห็นด้วย

‘ภาษีทรัมป์’ มาตรการป่วนการค้าโลก ที่ทุกประเทศไม่เห็นด้วย





Image
ad1

หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 นับเป็นการกลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบที่ 2   จุดยืนเรื่องสงครามการค้าที่ทรัมป์ประกาศไว้ว่าขึ้นภาษีศุลกากรทันทีหลังทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2568 ได้ถูกจับตามองจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่ว่าทรัมป์จะทำจริงหรือไม่ แต่ยังเป็นว่าจะทำรุนแรงแค่ไหน และทำเมื่อใด

ซึ่งหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่กี่ชั่วโมง ทรัมป์ประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% มีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อ้างว่าต้องใช้มาตรการภาษีศุลกากรกระตุ้นให้เม็กซิโกและแคนาดาแก้ปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐฯ และอีก 6 วันถัดมา ทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากโคลอมเบียในอัตรา 25% และจะเพิ่มเป็น 50% ภายในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย ปฏิเสธรับเครื่องบินทหารสหรัฐฯ สองลำที่บรรทุกผู้อพยพชาวโคลอมเบียส่งกลับประเทศ

ที่สำคัญคือ ทั่วโลกมองว่าเป้าหมายหลักของทรัมป์ คือการเล่นงานจีน ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นอกจากทรัมป์จะลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% ตามที่ขู่ไว้ ยังได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 10% ด้วย โดยมีผลบังคับใช้ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งทั้งสามประเทศประกาศว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ ทำให้อีก 3 วันถัดมา ทรัมป์สั่งชะลอแผนเรียกเก็บภาษีเม็กซิโกและแคนาดาออกไป 30 วัน  แต่ไม่ได้ชะลอแผนขึ้นภาษีจีน  ทางจีนจึงตอบโต้ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ เครื่องจักรกลการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% มีผล 10 กุมภาพันธ์ ขณะที่ทรัมป์ยังขู่ว่าจะรีดภาษีจากสหภาพยุโรป (EU) ด้วยเช่นกัน

ต่อมาทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมสู่ระดับ 25% พร้อมทั้งยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศ มีผลบังคับใช้ 12 มีนาคม โดยให้เหตุผลว่ามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหา และช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทรัมป์ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที โดยมอบหมายให้ทีมงานศึกษาประเด็นต่าง ๆ เพื่อกำหนดระดับภาษีศุลกากรที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศ แล้วจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน

ระหว่างนั้น ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทองแดงเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่ง ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ยอมรับว่า มาตรการนี้มุ่งเป้าไปที่จีน อ้างว่าจีนใช้กำลังการผลิตล้นเกินและการทุ่มตลาดเพื่อครอบงำตลาดโลก

4 มีนาคม ทรัมป์ขยับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสองเท่าจากอัตราเดิม 10% เพิ่มเป็น 20% ซึ่งจีนตอบโต้โดยประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงสุด 15% มีผล 10 มีนาคม พร้อมทั้งควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังบริษัทสหรัฐฯ หลายสิบแห่ง ขณะที่แคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 25% ทำให้วันที่ 6 มีนาคม ทรัมป์ประกาศเลื่อนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทจากเม็กซิโกและแคนาดาออกไปเป็นวันที่ 2 เมษายน โดยย้ำว่าจะบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ระบุว่า “วันที่ 2 เมษายน เป็นวันแห่งการปลดปล่อยอเมริกา” ทำให้ทุกประเทศที่อยู่ในข่ายจะถูกขึ้นภาษี ต่างรอดูว่าสหรัฐฯจะประกาศอย่างไร เพื่อจะได้พิจารณาว่าจำเป็นจะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ทรัมป์หรือไม่?

ส่งผลให้ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของจีน เตือนว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะย้อนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง เนื่องจากประเทศคู่ค้า รวมทั้งจีนได้เตรียมตอบโต้ด้วยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงเช่นกัน  เป็นผลให้ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าจะมีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ในวันที่ 2 เมษายน และเตรียมจะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในประเด็นที่จีนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

และทรัมป์ ยังส่งสัญญาณว่าอาจยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับหลายประเทศ โดยระบุว่า “เป็นการต่างตอบแทน” ซึ่งแนวคิดและท่าทีของทรัมป์ ทำให้ประเมินกันว่าน่าจะเกิดจากแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯเป็นหลัก ซึ่งทรัมป์และทีมมองว่าการขาดดุลการค้ามหาศาลเป็นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว และกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ตามนโยบาย “Make America Great Again” จึงมองข้ามผลกระทบกับประเทศต่างๆทั่วโลกจากมาตรการภาษีที่ทำลายบรรยากาศการค้าโลก และทำลายระบบการค้าแบบ “ทวิภาคี”ด้วย เพราะในความเป็นจริงผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนและกว้างไกลมาก เนื่องจากจะซ้ำเติมช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การค้าเสรีหดตัว และราคาสินค้าแพงขึ้นทั่วโลก ทั้งๆที่ปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ของสหรัฐฯเกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่สาหัสที่สุดคือปัญหาหนี้ท่วมสหรัฐฯ จนเศรษฐกิจยากที่จะฟื้นตัว หรือกลับมายิ่งใหญ่ได้ง่ายๆ

ขณะที่เป้าหมาย “America First” ของทรัมป์ ออกมาในรูปแบบของการสร้างผลกระทบเพื่อให้แต่ละประเทศที่โดนขึ้นภาษี ต้องมาเจรจาต่อรอง โดยยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก เพราะแม้บางประเทศ อย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งโดนขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 49% จะยอมสหรัฐฯถึงขั้นลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเหลือ 0% ทางสหรัฐฯก็ยังบอกว่าไม่พอ ยังจะเรียกร้องในเรื่องอื่นๆ อาทิ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สงครามการค้ารอบนี้ สหรัฐฯถูกมองว่าพุ่งเป้าไปที่จีน เพราะในขณะที่กับประเทศอื่นๆ สหรัฐฯไม่ได้เร่งเกมกดดัน โดยยืดเวลาให้ประเทศอื่นๆไปอีก 90 วัน แต่กับจีน จะพบว่าสหรัฐฯ กลับขยับเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 104% ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯเป็น 84% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นไป ทำให้ทรัมป์กร้าวหนักขึ้น สั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 125% และให้มีผลทันที ทำให้จีนยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก (WTO) คัดค้านการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง

แต่ทรัมป์ยังไม่หยุด เพราะสั่งเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% โดยส่งสัญญาณว่าจะรอให้ สี จิ้นผิง เป็นฝ่ายขอเปิดเจรจา ทำให้กระทรวงการคลังจีนประกาศขึ้นอัตราการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% และปฏิเสธการจัดการพูดคุยในระดับผู้นำของ 2 ประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือ จีนได้ระบุในเวลาต่อมาว่าจะไม่ตอบโต้สหรัฐฯด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ามากไปกว่า125% อีกแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากภาษี 125% ทำให้สินค้าสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีน และสินค้าจากประเทศอื่นๆได้แล้ว

ที่สำคัญจีนสนับสนุนความร่วมมือของกลุ่มประเทศต่างๆให้ผนึกกำลังกันตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่ง สี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการภาษีของทรัมป์ อีกทั้งรัฐมนตรีของจีนยังเร่งหารือกับคู่ค้าในแอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการค้าอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสูงถึง 36% เป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย ซึ่งไทยโดนขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าที่ขึ้นกับทั่วโลกที่ 16% หรือค่าเฉลี่ยของประเทศเอเชียที่ 21% เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยสูง ดังนั้น การตั้งทีมไทยแลนด์ไปเจรจากับสหรัฐฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะประเด็นเหวี่ยงแห อย่างลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ลดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และลดปัญหาละเมิดแรงงาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะไทยเท่านั้นที่โดน แต่อีกหลายสิบประเทศก็โดนด้วย การเจรจาจึงอยู่บนพื้นฐานที่สหรัฐฯใช้กับประเทศอื่นด้วย

ขณะที่ผลกระทบการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกเช่นกัน คาดว่าจะกระทบ GDP ไทย ให้ลดลงระหว่าง 1 – 1.5% ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 2.3 – 2.5% จะเท่ากับว่า GDP ไทย ในปีนี้จะเติบโตแค่ 1 – 1.3%  เท่านั้น ถือเป็นผลกระทบที่จะประมาทไม่ได้

โดยสรุป แม้จะมี 75 ประเทศที่ขอเจรจากับสหรัฐฯ แต่การที่จีนและอีกหลายประเทศมีปฏิกิริยาโต้ตอบ ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯมีมาตรการภาษีกับประเทศคู่ค้าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังย่ำแย่ สะท้อนว่าโอกาสที่ความขัดแย้งทางการค้าระดับโลกอาจยืดเยื้อจึงเป็นไปได้สูงมาก และสุดท้ายหากผู้บริโภคสหรัฐฯได้รับผลกระทบมากๆ ฐานเสียง คะแนนนิยมของทรัมป์ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าจะบานปลายถึงขั้นทำให้ทรัมป์หลุดจากเก้าอี้ประธานธิบดีสหรัฐฯหรือไม่?

โดย... นายภูวนารถ ณ สงขลา
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย