“ประเพณีบุญกระธูป” ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “หนองบัวแดง” สืบสานจากบรรพบุรุษ


อีกหนึ่งประเพณีชาวไทย แถบภาคอีสานที่สืบทอดกันมายาวนาน “ประเพณีบุญกระธูป” ถวายพุทธบูชา ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ระหว่างวันที่ 12-15 ค่ำ เดือน11 ของทุกๆปี บริเวณด้านหน้าอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากมีความเชื่อว่า กระธูปเป็นสัญลักษณ์แทนต้นหวา ไม้แห่งชมพูทวีป เมื่อมีการจุดต้นกระธูปแล้ว จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ ก่อให้เกิดความสุข เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวาระที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ว่ากันว่า “ประเพณีบุญกระธูป” เป็นประเพณีที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านของคนในท้องถิ่น จังหวัดชัยภูมิและอื่นๆ โดยเฉพาะ “ชาวบ้านอำเภอหนองบัวแดง” ถือว่าเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ส่วนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่แน่ชัด แต่ในปีพุทธศักราช 2532 ชาวบ้านหนองบัวแดง ได้มีการพื้นฟูแห่กระธูปไปวัดในช่วงวันออกพรรษา จนเกิดความศรัทธาในท้องถิ่น และต่อมาปี 2545 ทางเทศบาลหนองบัวแดง ได้เล็งเห็นประเพณีทางศาสนาที่งดงาม จึงได้มีการจัดงานประเพณีแห่กระธูป จึงได้นำแนวคิดของชาวบ้านมาจัดงานประเพณีประจำทุกๆปีของอำเภอหนองบัวแดง เพื่อที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมท้องถิ่น
และเมื่อเร็วนี้ ทางททท.ภาคอีสาน จัดนำการแห่บุญกระธูป มาร่วมเผยแพร่ให้ชมกันที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานไทยเที่ยวไทย สร้างความสนใจให้นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก พร้อมกันนั้น ได้มีการโชว์ขั้นตอนการทำต้นกระธูป ที่เน้นสีสันงดงาม ตระกาลตา สร้างจุดสนใจในหมู่บ้านภาคอีสานให้ชาวกรุงได้ชมกัน ด้วยการนำกระดาษมาตัดออกแบบลวดลายมาติดกับคันไม้ไผ่ ดูสวยงาม ตระกาลตาจากฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้าน จ.ชัยภูมิ
นางเรียมตา เดชเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน อ.หนองบัวแดง กล่าวว่า ประเพณีบุญกระธูปนิยมทำกันแถบอีสานตอนบน ซึ่งทางจังหวัดชัยภูมิร่วมกันอนุรักษ์ของดีในท้องถิ่น เพื่อให้อยู่คู่บ้าน คู่เมืองตลอดไป โดยจะมีการจัดงานขึ้นตามประเพณีทุกๆปี ในช่วงเทศกาลออกพรรษา จะมีลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นและคนในหมู่บ้าน ร่วมแรง ร่วมใจทำต้นกระธูปมาร่วมประกวดกัน พร้อมนางรำ มาฟ้อนในงานกันจำนวนมาก จนกลายเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวหนองบัวแดง โดยถือฤกษ์ออกพรรษา 11 ค่ำ เดือน 11 ของทุกๆปี
ลักษณะการทำต้นกระธูป วัตถุดิบเลือกมาจากสมุนไพรไทยที่หาได้ในท้องถิ่น และจะต้องมีกลิ่นหอม อาทิ ใบโอ้ม,ใบเนียม,ทองพันชั่ง,ใบแหน่ง,ขุยมะพร้าว และอื่นๆอีกมากมาย จากนั้นนำกระดาษสีมาตัดแปะเป็นลวดใหญ่ นิยมแบบลายไทย ลายมัดหมี่ ติดกับดาวที่ทำจากใบลาน มามัดติดกันคล้ายคันเบ็ด แล้วเอาไปเสียบไว้แกนไม้ที่มีความสูง 2- 8 เมตร (ขนาดที่นิยมทำประกวดกัน) ลักษณะจะเป็นกระธูปโคมไฟ ที่มีสีสัน งดงาม ประดับประดาแสงไฟระยิบระยับ
การจัดงานประเพณีแต่ละปี จะมีการแห่กระธูป งดงามหลากหลายสีสัน จัดตั้งขบวน จะมีนางรำ ธิดากระธูป การแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสาน จนกลายเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ขึ้นชื่อ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น สามารถสร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวมาชมงานกันจำนวนมาก
ที่สำคัญ คนในท้องถิ่นนำแนวคิด มาสร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มาสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรมได้อย่างแข็งแกร่ง และร่วมสืบสานประเพณีแบบไทยๆที่งดงามของท้องถิ่น