น่าน – สำรวจเส้นทางขุดลอกแม่น้ำน่าน ตามแนวทาง “ขุดลอกต่างตอบแทน” เตรียมยกเป็นโมเดลให้ท้องถิ่นปรับใช้

น่าน – สำรวจเส้นทางขุดลอกแม่น้ำน่าน ตามแนวทาง “ขุดลอกต่างตอบแทน”  เตรียมยกเป็นโมเดลให้ท้องถิ่นปรับใช้





Image
ad1

นายบรรจง  ขุนเพชร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน   ท้องถิ่นจังหวัดน่าน  ทางหลวงชนบทจังหวัดน่าน ปลัดอำเภอเมืองน่าน ปลัดอำเภอภูเพียง และ พ.ต.ท.ประสิทธิ์ กลาสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว  ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการขุดลอกลำน้ำน่านระยะทาง 1 กิโลเมตร ตั้งแต่ สะพานพัฒนาภาคเหนือ จนถึงสะพานศรีบุญเรือง  เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำก่อนเข้าช่วงฤดูฝนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำน่าน และเพิ่มพื้นที่เก็บกับน้ำสำหรับหน้าแล้ง โดยใช้แนวทาง “การขุดลอกต่างตอบแทน”  ซึ่งเป็นไปตามระเบียบราชการ  และราชการไม่ต้องใช้งบประมาณ  โดยให้ภาคเอกชนซึ่งมีความพร้อมในเรื่องเครื่องจักรกลและศักยภาพการดำเนินการมากกว่าภาครัฐ ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร และภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากปริมาตรวัสดุที่ขุดลอกขึ้นมาได้  ในระยะ 1 กิโลเมตร  ประมาณ  50,000  ลูกบาศก์เมตร เป็นการตอบแทน

ทางด้าน พ.ต.ท.ประสิทธิ์ กลาสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว     เปิดเผยว่า จะต้องทำประชาคม กับชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้าน บ้านแสงดาว หมู่ 2 และบ้านท่าล้อ หมู่ 1  ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำน่าน เพื่อทำความเข้าใจและขอความเห็นชอบ โดยจะทำประชาคมเร็วๆนี้  

นายบรรจง  ขุนเพชร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  กล่าวว่า  เป็นการบูรณาการหลายหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง  ได้มีการวางแผน ยื่นขออนุญาตทำรูปแบบรายการ การประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้เสีย และสร้างความเข้าใจ รับรู้รับทราบและให้ความร่วมมือกับโครงการดังกล่าว   ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ทันก่อนช่วงเข้าฤดูฝน  โดยเริ่มจากการยื่นขออนุญาตออกแบบ และขั้นตอนต่างๆ  ต้องให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้  จากนั้นกลางเดือน พฤษภาคม  คาดว่าจะได้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการขุดลอกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม   และเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็วช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ก่อนเข้าช่วงฤดูฝน   

จังหวัดน่าน ดำเนินโครงการ“การขุดลอกต่างตอบแทน”  โดยจะให้ระยะ 1 กิโลเมตร  ได้เป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เนื่องจากแนวทางนี้ มีกฎหมายและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยกระบวนการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน   รวมทั้งการวางแผนห้วงระยะเวลาดำเนินการให้เหมาะสม ซึ่งต้องขอความร่วมมือและบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งจะทำให้เห็นถึงกระบวนการและผลลัพธ์ของโครงการว่าทำได้จริงหรือไม่ และทำให้เป็นแบบอย่างโดยทีมจังหวัดพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ตามแนวแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนจังหวัดน่าน   อย่างไรก็ตามต้องสร้างการรับรู้  ขอความร่วมมือ และขออภัยในความไม่สะดวกขณะดำเนินโครงการ หากส่งผลกระทบต่อประชาชน และขอกำลังใจให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยของจังหวัดน่าน

ระรินธร  เพ็ชรเจริญ  รายงาน