ก.อุตฯ ปั้น “MIND STAR” นักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีความสำเร็จทางธุรกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว ควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน “เกษตรอุตสาหกรรม” จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีการนำองค์ความรู้ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การมาตรฐาน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ สู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ที่จะสามารถถ่ายทอดความสำเร็จให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างภูมิภาคได้
ณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
รองปลัดฯ ณัฏฐิญา กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอุตสาหกรรม จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตและต่อยอดไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจให้สามารถปรับตัวธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ผลิตภัณฑ์
โดยใช้จุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ มาสร้างสรรค์คุณค่าของสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการนำหลักการ ESG คือ "E" Environmental (สิ่งแวดล้อม) การคำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม "S" Social (สังคม) การจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับสังคม และ "G" Governance (บรรษัทภิบาล) การบริหารจัดการ ความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจควบคู่กับการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม จึงได้ดำเนินโครงการ “ปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (MIND STAR)” ปีงบประมาณ 2567 ขึ้น
ทั้งนี้ให้กระจายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการตามภูมิภาค โดยจะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 21 กิจการ ในกลุ่มธุรกิจเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร การเกษตร อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ผ่านการจัดหลักสูตรส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดธุรกิจผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในด้านต่าง ๆ ทั้งการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยหลัก BOFER , Design Branding & Marketing TOOL การให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ มาต่อยอดการพัฒนาธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
โดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง ยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีความโดดเด่นของธุรกิจที่มีการกระจายรายได้ให้กับเครือข่ายในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ซึ่งมีความพร้อมในการแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทยในภาพรวม คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท