รมว.เกษตร เปิดซื้อขายน้ำยางสด “WEUDR”ครั้งแรก ดันราคาพุ่ง 78 บาท/กก.

รมว.เกษตร เปิดซื้อขายน้ำยางสด “WEUDR”ครั้งแรก ดันราคาพุ่ง 78 บาท/กก.





ad1

รมว.เกษตร  “Kick Off”  ประเดิมซื้อขายน้ำยางสด “WEUDR”   อ.จะนะ จ.สงขลา ราคาทะยานขึ้น 78 บาท / กก. ขณะที่น้ำยางมิใช่ EUDR ราคา 66 บาท และ 68 และ 69 บาท / กก.  บูรณาการโรคใบร่วงชนิดใหม่เสริมความแกร่งห่วงโซ่ยางไทยทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 ที่โรงงานน้ำยางข้นจะนะ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะจ.สงขลา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน Kick Off  โครงการบูรณาการ เร่งแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา พร้อมประเดิมซื้อขายน้ำยางสด  EUDR เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผู้บริหารกระทรวงเกษตร โดยมีนายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)  พร้อมประชาชนชาวสวนยางพารา อ.จะนะ และใกล้เคียง เข้าร่วมรับนับพันคน

รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบายการพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน โดยสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่ยางพาราไทย โดยเข้าไปบรรเทาปัญหายางพาราตั้งแต่แหล่งกำเนิด นั่นคือสวนยางพารา โดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยางใประเทศไทย โดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้รายได้เกษตรกรที่จะได้รับลดลง จึงได้มอบหมายให้ กยท. เร่งแก้ปัญหา

“ขอชื่นชม กยท.ในการบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การแจกจ่ายชีวภัณฑ์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ตลอดจนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ผ่านโครงการบูรณาการทดลองร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เพื่อให้ได้กรรมวิธีที่เหมาะสมในการจัดการ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้นได้

รอ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า และอีกโครงการที่สำคัญคือ การยกระดับผลผลิตยางพาราให้ตรงตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อยาง หรือตลาดโลก ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมของเกษตรกร ในเรื่องกฎระเบียบ EUDR ที่จะเริ่มบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ปีนี้ ซึ่ง กยท. ได้จัดเตรียมระบบข้อมูลยางพาราไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งระบบลงทะเบียนเกษตรกรที่จะต้องใช้เป็นพื้นฐานรองรับกฎระเบียบ  ซึ่งการจัดทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (RAOT GIS) ของ กยท. เป็นอีกหนึ่งระบบที่ได้รับการรองรับตามกฎระเบียบ EUDR ในขณะนี้

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. ขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ต้นน้ำ โดยบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (ใบจุดกลม Colletotrichum) อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา กยท.ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและยับยั้งการเกิดโรคมาโดยตลอด ทั้งการจัดหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดและยับยั้งเชื้อรา (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการระบาดมาก)  โดยควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร และส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรด้วยการปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง และประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรในการขยายพันธุ์และขนย้ายกล้ายางที่ปลอดโรค

อีกทั้ง กยท. ยังดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค รวมไปถึงการทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ในแปลงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบโรค  ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 ทำให้แนวโน้มความรุนแรงของโรคลดลง และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุด (มิถุนายน 2567) มีพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค จำนวน 28,840 ไร่ ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 97

สำหรับโครงการบูรณาการ นี้ เป็นอีกก้าวของการพัฒนาชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรค ซึ่ง กยท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนได้มาบูรณาการทดลองร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 บริษัท ในพื้นที่สวนยางของตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสงขลาจำนวน 24 แปลง

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ในวันเดียวกันนี้ กยท. ประเดิมซื้อขายน้ำยางสดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา (เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR) ผ่านตลาดกลาง กยท. 2 แห่ง มีปริมาณน้ำยางสดรวมกว่า 138,000 กิโลกรัม โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้สูงสุดที่ 78 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10.5 ล้านบาท ถือเป็นการซื้อขายน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ครั้งแรกในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท. ได้เปิดตลาดซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางก้อนถ้วยที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผ่านการประมูลด้วยระบบ TRT

ดังนั้นการ Kick Off ในวันนี้ จึงแสดงถึงศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการจัดการข้อมูลยางพารา และระบบการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท. ที่มีมาตรฐาน พร้อมรองรับความต้องการยาง EUDR ของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มอบโฉนด สปก. ให้แก่เกษตรกรจำนวน 70 ราย และทำพิธีเปิดโรงงานผลิตน้ำยางข้นสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อีกด้วย ในขณะเดียวกันเจ้าของสวนยางพาราหมู่ 3 บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า วันนี้ (26 มิย.67) ราคาน้ำยางสดที่มิได้ขึ้นทะเบียน EUDR ราคาตลาดท้องถิ่นหน้าสวนยางพารา บางพื้นที่บางลานรับซื้อน้ำยางสด ราคา 69 บาท / กก. บางราย 68 บาท / กก. และบางราย 66 บาท / กก. ทั้งโดยราคาน้ำยางสดได้ทะยอยลงตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา  เป็น 78 บาท จากราคา 81 บาท / กก.และได้ทยอยลงทุกวัน วัน 2 บาท และ 1 บาทกว่า / กก. โดยมาจนถึงวันที่ 26 มิย. 67 ราคามาอยู่ที่ 66 บาท และไปจนถึง 69 บาท / กก.โดยราคาจะต่างกันแต่ละพื้นที่และแต่ละลานรับซื้อน้ำยางสด.

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ