จีนเมินซื้อยางพาราไทยหันซื้อคู่แข่งชาติอาเซียนแทนเหตุราคาถูกกว่า

จีนเมินซื้อยางพาราไทยหันซื้อคู่แข่งชาติอาเซียนแทนเหตุราคาถูกกว่า





Image
ad1

พ่อค้าส่งออก เผยจีนตลาดยักษ์ใหญ่ของโลกหันไปซื้อยางเมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนื่องจากไม่ยอมรับคำเสนอขายยาง EUDR ราคาพุ่งกว่า 90 – 96  บาท / กก. เปิดตลาดรอบแรกของไทยได้กว่า 1 ล้าน กก. 

เกษตรกรชาวสวนยางหมู่ 7 บ้านควนอินนอโม เขตเทศบาลตำบลเขาหัวช้าง  อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะราคายางโดยเฉพาะน้ำยางสด ได้ยืนคงที่กว่า 80 บาท / กก. มาเป็นระยะกว่า 1 สัปดาห์ จากราคาที่เคลื่อนไหวกว่า 70 บาท / กก. ส่งผลให้ชาวสวนยางที่สามารถกรีดยางได้มีรายได้ที่ดีขึ้น ส่งให้เศรษฐกิจชาวสวนเริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่จะคล่องตัวในค่าใช้จ่ายในค่าครองชีพ

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะราคายางกลไกลการตลาดราคาไม่แน่นอน โดยราคาที่ซื้อขายภายในประเทศประมาณกว่า 80 บาท / กก. และถึง 84-85 บาท / กก. แต่ในขณะเดียวกันราคายางต่างประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า

ขณะเดียวกันยางจากที่ประเทศเมียนมา สปป.ลาว  เวียดนาม อินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จากราคาที่ต่ำกว่า ได้ส่งผลให้ตลาดต่างประเทศได้หันไปซื้อ เพราะผู้ส่งออกจะไม่กล้าลงทุนซื้อยางในไทย เพราะว่าเวลาส่งออกขายในตลาดต่างประเทศได้ในราคาต่ำกว่าแล้วจะประสบกับขาดทุน

ดร.อุทัย กล่าวว่า แนวโน้มว่าหากมีสภาพเช่นนี้ต่างประเทศก็จะหันไปซื้อยางจากต่างประเทศที่ต่ำกว่าจนกว่าจะไม่มียางที่จะซื้อก็จะหันมาซื้อยางไทย ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางไทย ซึ่งที่เคยส่งออกถึง 35-40 %  ประมาณ 4 ล้านตัน และถึง 5 ล้านตัน / ปี ก็จะต้องส่งออกปริมาณที่ลดลงในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บเงินเซสเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาจัดเก็บได้นับพันล้านบาท / ปี

“น่ากังวลเรื่องตลาดยางในประเทศเนื่องจากระยะนี้เพิ่งเปิดหน้ากรีดยางยังมีปริมาณที่น้อย แต่หากกรีดไปได้อีกสักระยะหนึ่งจะเห็นผลกระทบที่น่าเป็นห่วง”

ดร.อุทัย  กล่าวอีกว่า  ในขณะเดียวกันเรื่องยาง EUDR ตาม กฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU) ในการตรวจสอบย้อนหลังยางว่าจะเป็นยางที่อยู่ในพื้นที่กฎหมายรับรองหรือไม่หรือยางอยู่ในพื้นที่บุกรุก ฯลฯ ปัจจุบันยางที่กฎหมายรับรองที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประมาณ 24 ล้านไร่ และอยู่นอก กยท.ประมาณ 6 ล้านไร่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่บุกรุกป่าฯลฯ ภาพรวมมียางอยู่ประมาณ 30 ล้านไร่ โดยยาง  EUDR ดังนั้นยางพ่อค้ารับซื้อเพื่อส่งไปยังประเทศ EU ได้ถึง 24 ล้านไร่หากได้ขึ้นทะเบียนกันหมดแล้ว และจะได้ราคาจะบวกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 บาท / กก.

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรยางแปรรูปผลิตรายใหญ่ที่เป็นผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะราคายางตอนนี้กลไกการตลาดกลับกันในประเทศราคาสูง แต่ในขณะเดียวกันที่ราคายางที่ต่างประเทศรับซื้อจะต่ำกว่า 

ทางกลุ่ม เสนอราคาขายไปยังต่างประเทศต่างถูกตอบปฏิเสธไม่รับซื้อ เพราะราคาสูงกว่าที่ตลาดต่างประเทศรับซื้อโดยเฉพาะประเทศจีน และประเทศจีนก็หันไปซื้อยางจากประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม  สปป.ลาว อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะมีมีต้นทุนต่ำกว่า

“เกษตรกรชาวสวนยางจะได้ราคาที่ดี แต่พ่อค้ายางจะอยู่ไม่ได้เพราะซื้อมาราคาที่สูงแต่ไปขายได้ในราคาที่ต่ำก็ต้องชะลอการซื้อไป”

นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า ในส่วนยาง EUDR ที่ต้องส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ EU ซึ่งจะเริ่มในปี 2568 ซึ่งกลุ่มบริษัทผู้ส่งออกไปยังประเทศ EU ได้ก็จะเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของโลก เช่น บริษัทศรีตรัง  บริษัทเซ้าท์แลนด์  บริษัทวงศ์บัณฑิต บริษัทไทยฮั้ว ฯลฯ กลุ่มนี้มีศักยภาพเพราะมีการค้าขายกับกลุ่ม EU

และในขณะเดียกันกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ยางจากประเทศสิงคโปร์ประเทศมาเลเซีย ก็ต้องการซื้อยางที่ขึ้นทะเบียน EUDR  เพื่อส่งออกกลุ่มประเทศ EU เช่นเดียวกัน  ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปผลิตล้อ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส และประเทศอิตาลี

“ในระยะต้น ๆ มีการซื้อขายยางรมควันชั้น 3 ราคา EUDR มีราคากว่า 90 บาท / กก.  แต่ในส่วนยางที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน EUDR  ราคาประมูลในตลาดกลาง  83 – 84 บาท / กก.”  นายกัมปนาท กล่าว

นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า แต่ถึงอย่างไรตลาดยางในประเทศจีน เพราะจีนมีตลาดที่กว้างคือตลาด One Belt One Road  ทั้งประเทศอาฟริกา กลุ่มเทศตะวันออกกลาง  และที่สำคัญคือกลุ่มประเทศบริคส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีตลาดขนาดใหญ่ 50 % ของโลก

ส่วนนายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มแปรรูปยาง และประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยาง และชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา  โดยมีเครือข่ายมีโรงรมยางประมาณ 250 โรง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มกำลังดำเนินการเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการยาง EUDR โดยสามารถยื่นสำเนาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ฯลฯ มายังกลุ่มเพื่อลงทะเบียนกับ กยท.โดยขณะนี้ประมาณการว่าน่าจะเข้าร่วมโครงการได้แล้วประมาณ 50 % จากทั่วประเทศ 

“ซึ่งถ้าเป็นยาง EUDR ทางกลุ่มจะรับซื้อในราคาบวกเพิ่มขึ้นจำนวน 3 บาท / กก. จากกราคาซื้อขายของตลาดโดยทั่ว ๆ ไป”

นายเรืองยศ กล่าวว่า  ปัจจุบันยาง  EUDR  ได้เปิดตลาดประมูลเป็นแห่งแรกที่ตลาดกลาง กยท. จ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 500,000 กก. และ จ.นครศรีธรรมราช 500,000 กก. เมื่อประมาณวันที่ 6 พฤษภาคม 2567  ที่ผ่านมา โดยจะทำการเปิดตลาดประมูลทุกวันพฤหัสบดี  นอกนั้นวันปกติจะเป็นยางทั่วไป

“ยางรมควัน EUDR ได้ราคากว่า 94 – 96  บาท / กก. ขณะที่ยางทั่ว ๆ ไปราคาประมูลที่  83-84 บาท / กก. และในส่วนของเศษยาง ยางข้นถ้วย กว่า 62-63 บาท / กก. จากราคายางปกติ 30 -40 บาท / กก.” 

นายเรืองยศ กล่าวอีกว่า ภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ทางกลุ่มจะทำการผลักดันให้มีการเปิดประมูลยางแผ่นดิบ EUDR ด้วย โดยในระยะแรกให้เปิดตลาดประมาณ 1 ครั้ง / เดือน และถัดไปจะให้เปิดตลาดประมูลประมาณ 2 ครั้ง / เดือน และต่อไปก็จะให้ทำการผลักดันให้เปิดตลาดกลางประมูลซื้อขายน้ำยางสด EUDR ต่อไปด้วย สำหรับน้ำยางสด จะต้องเปิดประมูลทุกวัน

“เฉพาะในส่วนยางแผ่นดิบจะเป็นยางทีมีคุณภาพกว่ายางแท่ง ยางรมควัน และยางแผ่นดิบ สามารถกักเก็บไว้ได้นานากว่ายางรมควัน ยางแท่ง เป็นครึ่งปี และเป็นยางแผ่นดิบเป็นยางคุณภาพที่สามารถนำไปแปรูปเป็นยางล้อ โดยเฉพาะยางล้อเครื่องบิน ยางแผ่นดิบราคาประมาณ 85 บาท / กก.” นายเรืองยศ กล่าว 

นายเรืองยศ กล่าวอีกว่า ยาง EUDR ผู้ส่งออกรายใหญ่จะส่งไปขายยังตลาดกลุ่มประเทศ EU ส่วนยางที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน EUDR กับ กยท. ก็จะสามารถส่งออกไปยังกลุ่ปมระเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งขณะนี้เป็นช่องทางการตลาดของชาวสวนยางที่มีให้เลือก ถึง 2 ตลาดใหญ่ ทั้งตลาดกลุ่มประเทศ EU และประเทศจีน ซึ่งจะมีการแชร์และแข่งขันทางด้านการตลาดขึ้น ชาวสวนยางจะมีตลาดหลายช่องทาง และจะมีการแข่งขันกัน.

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ