โคราชคิกออฟ "โครงการบำนาญประชาชน ปลูกต้นไม้เป็นเงินออม”ตั้งเป้า 1 ล้านต้นภายในปี 2567

โคราชคิกออฟ "โครงการบำนาญประชาชน ปลูกต้นไม้เป็นเงินออม”ตั้งเป้า 1 ล้านต้นภายในปี 2567





ad1

นครราชสีมา -โคราชคิกออฟ “โครงการบำนาญประชาชน ปลูกต้นไม้เป็นเงินออม” ตั้งเป้า 1 ล้านต้นภายในปี 2567 มั่นใจ เกษตรกรปลูกยาวๆ 30 ปี มีเงินบำนาญ 1 ล้านบาทจากการปลูกต้นไม้

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา , นางสมพิส ทองดีนอก เกษตรจังหวัดนครราชสีมา , นายสราวุธ อุเทนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา และนายชัชนรินทร์ อ่อนราษฎร์ เกษตรต้นแบบ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการบำนาญประชาชน ปลูกต้นไม้เป็นเงินออม” ที่สวนรุกขชาติปรุใหญ่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ต.ปรุใหญ่ อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ทั้งนี้เพื่อเป็นบำนาญในยามชราและเป็นทางเลือก ให้กับประชาชน แรงงานนอกระบบ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ไม่มีบำเหน็จบำนาญในยามชรา

โดยหากเริ่มปลูกไม้มีค่าตั้งแต่อายุยังน้อย ต้นไม้ที่ปลูกก็เติบโตมีราคาในอนาคต อีกทั้งการปลูกต้นไม้ยังเป็นการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งในงาน มีตัวแทนเกษตรกรและตัวแทนจากส่วนราชการ เข้าร่วมแถลงข่าวและเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ พร้อมรับมอบพันธุ์ไม้เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้น ประมาณเนื้อที่ 2 ล้านไร่เศษ คิดเป็นร้อยละ 15.54 ของพื้นที่จังหวัด จึงต้องมีการเร่งรัดดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกรูปแบบและต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง สถานการณ์บุกรุกทำลายป่าในพื้นที่ มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทางจังหวัดฯฯ จึงเริ่มดำเนินโครงการฯ ภายในปี 2567 โดยตั้งเป้าเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปเข้าร่วมโครงการ ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านต้น สำหรับเกษตรกร และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา”


นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว มี 4 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย 1.ตั้งเป้าหมายปี 2567 จะมีต้นไม้ 1 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ 2.ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองที่มีเอกสารสิทธิ์ และภาครัฐจะรับลงทะเบียนให้ เพื่อยืนยันว่าต้นไม้ที่ปลูกนั้นเป็นต้นไม้ของประชาชนเจ้าของที่ดิน และสามารถขายให้กับทางภาครัฐได้ในอนาคต 3.ธกส.รับต้นไม้เป็นสินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ของพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และ 4.ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

โดยเฉลี่ยแล้วราคาประเมินต้นไม้ที่แจกจ่ายให้ปลูกนั้น ปลูก 30 ปี จะมีราคาต้นละ 10,000 บาท ผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถปลูกได้ตั้งแต่ 50-200 ต้น เฉลี่ยจะมีเงินบำนาญไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งต้นไม้ที่โครงการกำหนดให้ปลูกและจะแจกจ่ายให้กับประชาชนหรือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมี ต้นพะยูง ต้นยางนา ต้นประดู่ป่า ต้นมะค่าโมง ต้นแดง และต้นมะฮอกกานี เป็นต้น” นายชัยวัฒน์ฯ กล่าว .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา