เขื่อนโคราช 27 แห่งวิกฤติน้ำลดฮวบ ลำน้ำมูลแห้งขอด เกษตรกรเดือดร้อนหนัก

เขื่อนโคราช 27 แห่งวิกฤติน้ำลดฮวบ ลำน้ำมูลแห้งขอด  เกษตรกรเดือดร้อนหนัก





ad1

นครราชสีมา-ภัยแล้งกระหน่ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนโคราช 27 แห่งลดฮวบ เหลือน้ำใช้ 38.92 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ลำน้ำมูลแห้ง  ชลประทานวางแผนใช้น้ำอย่างรัดกุม น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมาก่อน

สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปราณน้ำเก็บกับในอ่างเห็บน้ำต่างๆ ทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ลดลงอย่างรวดเร็ว โดย 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เหลือน้ำเก็บกักปัจจุบัน อยู่ที่ 114.28 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.34% เป็นน้ำใช้การได้ 91.56 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 31.38 % , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง  เหลือน้ำเก็บกักอยู่ที่ 85.58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 55.22 % เป็นน้ำใช้การได้ 84.88 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 55.01 % , อ่างเก็บน้ำมูลบน เหลือน้ำเก็บกักอยู่ที่ 60.90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43.20 % เป็นน้ำใช้การได้ 53.90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.23 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือน้ำเก็บกักอยู่ที่ 106.80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.84 % และเป็นน้ำใช้การได้ 99.80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.24 %

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง เหลือปริมาณน้ำเก็บกัก รวมอยู่ที่ 144.16 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43.52 % เป็นน้ำใช้การได้ 119.13 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.91 % ซึ่งทำให้ประมาณน้ำเก็บกักภาพรวมทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณรวมเหลือแค่ 511.75 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 42.06 % และเป็นน้ำใช้การได้เพียง  449.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.92 % ชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม เน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคก่อน และต้องมีอย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้ง

 จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณน้ำเก็บกักลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำใช้เพื่อการเกษตร อย่างเช่นที่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลลดระดับลงอย่างมาก จนบางจุดถึงขั้นแห้งขอด โดยลำจักราช ลำสาขาของลำน้ำมูล ที่บริเวณสนามแข่งเรือพิมาย น้ำแห้งเห็นสันดอนดินโผล่ขึ้นกลางลำน้ำ รวมทั้ง มีหญ้าและวัชพืชเริ่มขึ้นริมลำน้ำ  ส่วนที่เขื่อนพิมาย ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ก็พบว่า ปริมาณน้ำลำระดับลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยด้านท้ายเขื่อน น้ำแห่งเห็นสันดอนดิน จนนกยางลงมาเดินหากินปลาขนาดเล็ก และซากหอย-ซากปูที่อาศัยในลำน้ำได้อย่างสะดวก ซึ่งทางเขื่อนฯ ปิดบานระบายเอาไว้ไม่มีการส่งจ่ายน้ำลงไปยังพื้นที่ท้ายเขื่อน เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ให้นานที่สุด สงวนไว้ใช้ผลิตประปาแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่

นายชาญ ชัยยะ อายุ 71 ปี อยู่บ้านเลขที่ 94/1 ม. 15 บ้านน้อย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา บอกว่า ปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พืชผลต่างๆ ทั้งมะนาว มะม่วง ใบแห้ง ขาดน้ำ ออกลูกมายังไม่ทันโต ก็ร่วงหล่นเกือบหมด ปลูกขนุนเอาไว้ก็เหี่ยวเฉาไม่มีน้ำรด น้ำลำมูลก็แห่ง น้ำคลองชลประทานก็ไม่มี ทำอะไรไม่ได้เลย ภัยแล้งปีนี้รุนแรงผิดปกติ ปีก่อนๆยังพอมีน้ำให้ได้รดต้นไม้บ้าง แต่ปีนี้แล้งจริงๆ ไม่มีน้ำทำการเกษตร พืชยืนต้นเหี่ยวเฉาเสียหายไปจำนวนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมาดูและให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาว่า ควรจะทำอย่างไรเพื่อจะบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง เพราะกว่าจะถึงหน้าฝนก็อีกเป็นเดือน

 ตอนนี้ลำบากกันไปหมด  น้ำจะให้วัวควายกินก็แทบจะไม่มีแล้ว  ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย แต่อยู่ท้ายเขื่อน ถ้าพื้นที่ที่อยู่ห่างจากลำน้ำมูลมากกว่านี้ จะประสบความเดือดร้อนกันแค่ไหน จึงอยากให้ผันน้ำเก็บกักจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ มาช่วยบรรเทาบ้าง ตอนนี้ยังพอมีน้ำประปามาให้ใช้บ้าง แต่ก็กังวลใจว่า ถ้าน้ำเก็บกักหมดจะทำยังไง จึงอยากให้ระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ มาเสริมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอจนกว่าจะถึงหน้าฝน .