นายกฯกำชับตำรวจเลิกแบ่งฝ่าย ย้ำต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน

นายกฯกำชับตำรวจเลิกแบ่งฝ่าย ย้ำต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน





ad1

นายกฯกำชับตำรวจเลิกแบ่งฝ่าย  เชื่อปมตั้งคณะกรรมการสอบตำรวจไม่วืดซ้ำรอย ชี้ผู้นำคนละยุค ส่วนได้กลับก่อนเกษียณหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลสอบ

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้กับตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาจากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้ 

โดยนายกฯกล่าวว่า ได้กำชับให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับพลตำรวจโทจนถึงระดับรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมให้เข้มงวดในภารกิจดูแลพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องการพนันออนไลน์, ยาเสพติด, มือปืน, บ่อน, เผาป่า , การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว, การดูแลเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง,  รวมทั้งกำชับเรื่องความสมัครสมานสามัคคี  ไม่ให้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้นำประชาชนเป็นที่ตั้ง 

เชื่อว่าแต่ละคนก็มีความรักความชอบที่แตกต่างกัน แต่ขอให้เก็บไว้ในใจ ให้ทำงานเพื่อประชาชน และตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ให้ข่าวสนับสนุนใคร จึงไม่ต้องการให้มีการก้าวก่ายหรือให้ข่าวเรื่องใด ๆ อีกต่อไปแล้ว และไม่ต้องการให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทุกท่านยังฝักใฝ่เรื่องนี้ หากยังพูดถึงแต่เรื่องนี้ ประชาชนก็จะเดือดร้อน ตำรวจเองก็จะไม่ตั้งสมาธิกับการการทำงาน ดราม่าจบไปแล้ว อีกทั้งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็มีภารกิจหลักอยู่ ซึ่งได้หารือนอกรอบกับพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐแล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และช่วงบ่ายวันนี้ก็จะมีการลงรายละเอียดในเรื่องนโยบายต่อไป 

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นวานนี้ที่ได้มีคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 2 นายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มั่นใจว่าจะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ส่วนจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วันนั้นไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่หากสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่านั้นก็จะดี  ส่วนจะมีผลทางวินัยและอาญาในภายหลังหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนข้อเท็จจริง หากไม่พบการกระทำความผิดก็สามารถกลับมาได้ แต่จะกลับมาก่อนเกษียณอายุราชการหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯเช่นกัน และคงจะมีการชี้แจงในภายหลัง ตอนนี้จึงไม่อยากให้ข่าวที่เป็นการชี้นำหวังว่าหลังจากนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ยืนยันว่าไม่ใช่การสร้างภาพ ให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้หรือไม่ แต่คำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมหรือคลื่นใต้น้ำหรือไม่นั้น ไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเซ็นคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยาก และไม่สบายใจที่จะตัดสินใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้แบ่งงานให้กับทั้งสองท่าน เนื่องจากมีภารกิจหลายอย่าง 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ในอดีตสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งเคยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วย บุคคลภายนอกขึ้นมาตรวจสอบนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายยืดเยื้อ 

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่สามารถนำมาบังคับใช้ทางอาญาหรือวินัยได้เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ กรณีนี้จะ เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีตอบว่า “ท่านใช้คำว่าอดีตนั้นถูกต้องแล้ว แต่นี่คือปัจจุบัน ผู้นำก็คนละคน"