"อ.สมพร" ครูมีแต่ให้ เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นคนดี ตอบแทนสู่สังคม

"อ.สมพร" ครูมีแต่ให้ เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นคนดี ตอบแทนสู่สังคม





ad1

ร้านเสริมสวยดัง อาจารย์สมพร พรหมยานนท์ ผู้รังสรรค์ความสวยงามด้านดูแลเส้นผมและทรงผมให้กับผู้คนมากมายจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียง ได้รับรางวัลมากมายจากการนำผลงานเข้าประกวด ด้วยการออกแบบนำวัสดุพื้นเมืองมาตกแต่งทรงผมและใช้วัสดุต่างๆเช่นสินค้าจักสานพื้นเมือง เช่นกระด้ง มาทำการตกแต่งเส้นผมให้ออกมาดูสวยตระการตา 

อาจารย์สมพร ได้เล่าชีวิตของการต่อสู้ตั้งแต่วัยเยาว์จนประสบความสำเร็จในปัจจุบันนี้ว่า  ท่านมีชีวิตลำบากเมื่อวัยเด็ก เริ่มทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่วัย 9 ขวบ คือรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าว ช่วยพ่อแม่ส่งเสียพี่น้อง 6  คน และเรียนจบแค่ชั้นป. 6   ก็ต้องออกจากโรงเรียนไม่ได้เรียนต่อ  ซึ่งตนเองนั้นสนใจด้านความสวยความงามมาตั้งแต่เด็ก  คุณพ่อเลยให้ความสนับสนุนไปเรียนด้านการเสริมสวย โดยจะกู้เงินจาก ธกส. ส่งเสียให้เรียน แต่คุณพ่อเสียชีวิตไปก่อนจึงไม่ได้เรียนตามที่หวังไว้

แต่ด้วยความมุ่งมั่นเมื่อปี 2530 อาจารย์สมพรก็ได้เดินทางไปอยู่กับน้องสาวของมารดาที่อยู่ในตลาดพัทลุง ช่วยขายข้าวแกง ช่วยล้างจานชาม สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนตามที่หวังอีก ต่อมาภายหลังน้าสาวซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อ ขณะนั้นทำงานอยู่โรงพยาบาลจ.พัทลุงได้ทราบข่าวจึงส่งให้ไปเรียนโรงเรียนเสริมสวยแห่งหนึ่งด้วยเงิน 2 พันบาท การเดินทางไปเรียนเสริมสวยก็ลำบากเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารถสองแถว จึงต้องเดินไปสถานีรถไฟไปกลับวันละ 2 กม. และทำงานบ้านทุกอย่างและเลี้ยงเด็กให้เจ้าของร้านจนเจ้าของร้านเอ็นดูคืนเงินค่าเรียนให้ 1 พันบาท  

อาจารย์ทั้งเรียนและทำเสริมสวยอยู่ที่เดิมถึง 4 ปี พอมีเงินเก็บก็ตัดสินใจเดินทางไปเรียนเสิรมสวยต่อที่กรุงเทพฯ แต่เรียนไม่จบเพราะเงินทุนหมด  ตัดสินใจกลับใต้เปิดร้านที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยอาศัยร้านอาหารแห่งหนึ่งกลางวันเปิดร้านเสริมสวย กลางคืนช่วยร้านอาหารล้างถ้วยชาม ทำได้ระยะหนึ่งก็ต้องเดินทางกลับพัทลุงเพราะคุณปู่เสีย และได้เป็นครูสอนเสริมสวยให้กับ กศน.ในพื้นที่ถึง 3 ปี และเก็บเงินสร้างบ้านเมื่อวัย 26 ปี ต่อมาเมื่อปี 2541 ก็ได้เปิดร้านเสริมสวยของตนเองโดยยืมเงิน 10,000 บาทเปิดร้านและใช้คืนใน 1 เดือน

ด้วยความยากจนและความลำบากในการหาเงินจึงทำให้ตนเองรับรู้ถึงความรู้สึกอันขมขื่นนี้ ที่ต้องต่อสู้กล้ำกลืนและอดทนไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา หลังจากที่อาจารย์สมพร เปิดโรงเรียนได้ และมีรายได้เข้ามา อาจารย์ก็ตั้งใจให้ทุนการศึกษากับเด็กๆยากไร้ ที่ด้อยโอกาส ได้มาเรียนรู้กับทางโรงเรียนเสริมสวยของอาจารย์ โดยรับผู้ด้อยโอกาสจากจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้เช่น พัทลุง  นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา สงขลา สตูล เป็นต้น

ซึ่งนักเรียนจะต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ 8.30 น. - 17.00 น.  และทางโรงเรียนก็ออกพื้นช่วยเหลือสังคมโดยให้บริการ ตัดผม ซอยผมให้ชุมชนในวันอังคารและพฤหัส อีกทั้งร่วมกับหน่วยราชการเป็นอำเภอเคลื่อนที่และเทศบาลเคลื่อนที่ จนมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของจังหวัดพัทลุงและใกล้เคียง 

เมื่อย้อนคิด อาจารย์ได้กล่าวเสียงเครือว่า ในวัยเด็กนั้นตนขาดความรักและความอบอุ่นอย่างมากเนื่องจากความไม่เข้าใจเรื่องเพศสภาพของสังคม อาจารย์มีความทุกข์และน้อยใจ แต่ไม่เคยท้อ เสียใจได้แต่ท้อใจไม่ได้ จึงต่อสู้กัดฟันนำพาตนเองให้ประสพความสำเร็จในชีวิต อาจารย์เล่าเสียงเครือว่า ตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ เงินเพียงน้อยนิดมีค่ามาก แม้กระทั่งหิวน้ำก็ต้องประหยัดโดยดื่มน้ำจากในห้องน้ำ  มาถึง ณ ปัจจุบัน อาจารย์สมพรกล่าวว่า คนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นคนดีของสังคมได้ เหมือนตัวอาจารย์เองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และไม่ยอมแพ้จนมีวันนี้