ชื่นชมรัฐแก้ปัญหากากถั่วอ้อนต่ออายุนำเข้าทุก 3 ปีวอนขจัดด้านภาษีแข่งเวทีโลก
เกษตรกรภาคปศุสัตว์ชื่นชมการทำงานรัฐ พิจารณานำเข้ากากถั่วเหลืองทันเวลา ย้ำขอช่วยพิจารณาขจัดอุปสรรคของอุตสาหกรรม ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วยการยกเลิกภาษีและลดขั้นตอนการทำงาน เช่น ทบทวนการต่ออายุประกาศนำเข้าวัตถุดิบเป็นทุกๆ 3 ปีเช่นเดิม เชื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก และส่งเสริมเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรภาคปศุสัตว์ไทยได้อย่างยั่งยืน
ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ กล่าวว่า เกษตรกรและสมาคมฯ ชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหานำเข้ากากถั่วเหลืองได้ทันเวลา และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนนโยบายการส่งออกสินค้าอาหารของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อนำเข้าเงินตราต่างประเทศมาสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในปี 2566 เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ไทยมีปริมาณส่งออกมากกว่า 100,000 ตัน และมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิลและสหรัฐอเมริกา นับเป็นการขยับตำแหน่งขึ้นจากอันดับที่ 4 ในปี 2565 แสดงให้เห็นศักยภาพการพัฒนาและการแข่งขันของไก่ไทยในเวทีโลก
หากแต่ไทยยังเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต เพราะทั้งบราซิลและสหรัฐฯ เป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของโลกซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในสูตรอาหารสัตว์ทำให้อาหารสัตว์มีราคาต่ำกว่าไทยมาก ขณะที่ไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบทั้งสองชนิด เนื่องจากผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายกำกับการนำเข้าทั้งกากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้เงื่อนไของค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีทั้งมาตรการภาษีและโควต้าควบคุมการนำเข้า เช่น ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองในโควต้าเสียภาษี 2% นอกโควตาภาษี 119% ขณะที่การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการกำหนดโควต้าจำนวนนำเข้า 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% นอกจากนี้ยังจำกัดการนำเวลานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน และจำนวนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนจาก 3 ส่วนของข้าวโพดในประเทศ จึงเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ทำให้ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ยากขึ้น
“อยากขอให้รัฐทบทวนมาตรการต่างๆเหล่านี้ เพื่อช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไก่เนื้อไทยในตลาดโลกได้ และเชื่อว่าด้วยคุณภาพของไก่ไทยจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ ช่วยสร้างเศรษฐกิจของชาติให้เข้มแข็งมากขึ้นได้ดังเป้าประสงค์ของรัฐบาล” ดร.ฉวีวรรณกล่าว
ด้าน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกร รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือสนับสนุนให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลง แต่กลับกลายเป็นว่าบางมาตรการของรัฐยิ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เป็นอุปสรรคในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 หรือ การเก็บภาษีวัตถุดิบนำเข้า อาทิ ภาษีกากถั่วเหลือง 2%, ภาษีกากเบียร์ (DDGS) 9% และภาษีปลาป่น 15% หากรัฐยกเลิกมาตรการเหล่านี้ไปก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและมีเสถียรภาพรายได้ที่มั่นคงขึ้น จึงอยากขอร้องให้รัฐพิจารณาขจัดอุปสรรคเหล่านี้ให้หมดไปโดยเร็ว
ส่วนผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองในช่วงสิ้นปี 2566 ที่รัฐอนุมัติก่อนวันสิ้นปีว่าเป็นเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการหยุดชะงักของธุรกิจ ซึ่งต้องชื่นชมรัฐบาลที่สามารถประกาศได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม อยากขอให้รัฐทบทวนคำสั่งการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองจากปีต่อปี ให้เป็น 3 ปีต่อครั้งเช่นเดิม เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ต่อเนื่อง และควบคุมต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้ ทั้งยังช่วยลดขั้นตอนดำเนินการด้วย./