สตม.ถก 'ตม.อาเซียน DGICM'ยกระดับป้องกันความรุนแรงด้านความมั่นคง-อาชญากรรมระหว่างประเทศ

สตม.ถก 'ตม.อาเซียน DGICM'ยกระดับป้องกันความรุนแรงด้านความมั่นคง-อาชญากรรมระหว่างประเทศ





Image
ad1

สตม. เปิดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ 'ตม.อาเซียน DGICM' ครั้งที่ 26 อย่างเป็นทางการ  ชูวาระสำคัญ หาแนวทางปัองกันความรุนแรงด้านความมั่นคงและอาชญากรรมระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นประธานในงานแถลงข่าวผลการประชุมอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองและหัวหน้าฝ่ายกงสุลกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (DGICM) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการ ศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง ให้เกียรติเข้าร่วมแถลงข่าว ณ ห้องลอยกระทง โรงแรม อังสนา ลากูน่า ภูเก็ต

พล.ต.ต. ชูฉัตร  ธารีฉัตร รองผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า “ปีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมือง และหัวหน้าฝ่ายกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (DGICM) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต สำหรับการประชุม “DGICM” คือ การประชุมผู้นำระดับอธิบดี หรือ ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง หัวหน้าฝ่ายกงสุล ในกลุ่มประเทศอาเซียน 11 ประเทศ รวมประเทศติมอร์เลสเต ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนล่าสุดเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยเริ่มมีการประชุมกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 หมุนเวียนกันเป็นประเทศเจ้าภาพ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและทำข้อตกลงในการร่วมมือกันพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายผ่านแดนของบรรดาอาชญากรรมข้ามชาติ      การลักลอบเข้าเมือง และการค้ามนุษย์ ในเขตภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคใกล้เคียง ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2545 และปี พ.ศ.2555”

“สำหรับสถานการณ์การผ่านแดนในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการอำพรางตัวตนโดยการเปลี่ยนสัญชาติที่หลากหลาย การเคลื่อนย้ายไปฝังตัวยังประเทศหนึ่งเพื่อก่อเหตุให้ส่งผลต่อเป้าหมายในอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และคดีทางการเงิน ดังนั้น หน่วยงานด้านกงสุลและตรวจคนเข้าเมือง จึงต้องผนึกความร่วมมือ ทั้งด้านการข่าว ด้านเทคโนโลยี ด้านกฎหมาย เพื่อให้เกิดกลไกการปฏิบัติร่วมกันอย่างคล่องตัว จึงเป็นที่มาของแนวคิดการประชุมที่ว่า "Building Security, Fostering Collaboration and Sustaining the Future" โดยประเทศที่ร่วมประชุม นอกเหนือจาก กลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 11 ประเทศ ยังมี เลขาธิการอาเซียน ผู้แทนประเทศออสเตรเลีย และประเทศคู่เจรจา +3  ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน”สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุมหารือ DGICM ครั้งที่ 26 เป็นไปตามหัวข้อสารัตถะสำคัญได้แก่

•การประชุมอาเซียนว่าด้วยหัวหน้าด่านหลักตรวจคนเข้าเมือง (ASEAN Heads of Major Immigration Checkpoints Forum หรือ AMICF)
•การประชุมหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการลักลอบขนคนเข้าเมือง (Heads of Specialist Unit on People Smuggling Meeting – HSU)
•การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการข่าวหน่วยตรวจคนเข้าเมือง (ASEAN Immigration Intelligence Forum หรือ AIIF)

นอกจากนั้น ยังมีเวทีการประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 2 เวที ได้แก่ การประชุม DGICM กับคู่เจรจา ออสเตรเลีย และ การประชุม DGICM กับคู่เจรจา + 3 ได้แก่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีการประชุมเต็มคณะโดยอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองและหัวหน้าฝ่ายกงสุลกระทรวงการต่างประเทศด้วย

“ผลการประชุมหารือในทุกด้าน ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมเป็นต้นมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งด้านสารัตถะซึ่งปรากฏผลความร่วมมือที่เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมีประเด็นหลักด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การอัพเดทข้อมูลการติดต่อหน่วยงานตลอด 24 ชั่วโมง การศึกษาและนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้การจัดเก็บและเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ด้วยภาพถ่ายใบหน้าและลายพิมพ์นิ้วมือ (BIOMETRICS) ในระบบงานตรวจเข้าออกราชอาณาจักร การควบคุมการพำนักคนต่างด้าว และการให้บริการคนต่างด้าว

โดยใช้ระบบ Online e- Extension รวมถึงการลงข้อมูลบุคคลต้องห้ามให้เป็นระบบงานที่รองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคตอย่างมีเอกภาพ เพื่อการป้องกันการลักลอบผ่านแดนระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ให้เกิดการประสานงานปฏิบัติร่วมกันในการสกัดกั้น หรือปราบปรามการจับกุมได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ได้แก่การก่อการร้าย การลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญไว้”

ส่วนด้านการจัดงานในฐานะเจ้าภาพสำหรับปีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เลือกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในการจัดงานเพื่อกระตุ้นบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังจากเผชิญเหตุวิกฤติโควิด-19 ซึ่งได้เชิญชวนประชาชนคนไทย และชาวภูเก็ตร่วมเป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติกว่า 500 คน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินแผนรักษาความปลอดภัยและการจราจร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนั้น ยังส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ด้วยการใช้อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ของที่ระลึกจากงานฝีมือท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยอีกด้วย รวมถึงตอบสนองแนวคิดตามมติสหประชาชาติในการลดภาวะมลพิษด้วยธีม Low Carbon meeting  เช่น การใช้วัสดุการประชุมที่รีไซเคิลได้ การใช้จอ LED เป็น Backdrop แทนวัสดุไม้หรือกระดาษ การลดการใช้เอกสาร การใช้ไม้กระถางตบแต่งสถานที่เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์หลังประชุม การใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในการประชุม เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างการประชุมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด”

การประชุม DGICM ครั้งที่ 26 นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญ ที่ผู้นำตรวจคนเข้าเมืองอาเซียนระดับอธิบดี และผู้นำตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงหัวหน้าฝ่ายกงสุลจากประเทศที่มีบทบาทสำคัญวงล้อมรอบอาเซียนในฐานะคู่เจรจาอื่นๆ จะได้มาร่วมประชุมกัน เนื่องด้วยงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นเหมือนประตูบ้านที่คอยสกัดกั้นการเดินทางของบุคคลที่เป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรตั้งแต่ระดับการก่อการร้าย ไปจนถึงระดับมิจฉาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวเป็นเครือข่ายควบคุมการพัฒนาทางด้านการคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยี เข้าลักษณะอาชญากรข้ามชาติ นี่จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะหารือเพื่อปัองกันการแพร่ขยายความรุนแรงด้านความมั่นคง และอาชญากรรมระหว่างประเทศ ให้กับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน” กล่าวปิดท้าย