"ดีพร้อม" ปลื้มปั้นนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมกว่า 1.6 หมื่นราย สร้างมูลค่าเพิ่มทาง ศก. กว่า 500 ลบ.

"ดีพร้อม" ปลื้มปั้นนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมกว่า 1.6 หมื่นราย สร้างมูลค่าเพิ่มทาง ศก. กว่า 500 ลบ.





ad1

 
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม แถลงผลสำเร็จนักส่งเสริมอาชีพ ดีพร้อม โชว์ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ชุมชน ผ่าน 5 หมวดอาชีพ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพร ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง และการบริการ ด้วยการเสริมสร้างทักษะการประกอบธุรกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์และงานบริการที่สอดคล้อง กับวิถีชีวิตแต่ละพื้นที่ และนำไปต่อยอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยปั้นนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมทั่วประเทศกว่า 16,000 ราย สามารถต่อยอดประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริม สร้างรายได้จริง รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท พร้อมสร้างผู้ให้บริการ (Service Provider : SP) จำนวน 329 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.11 และคาดว่าจะส่งต่อองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่กว่า 7,000 ราย

นายใบน้อย  สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งงานใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่จุด ในประเทศ ทำให้ชุมชนหลายแห่งเกิดปัญหาการว่างงาน ขาดแหล่งรายได้ ส่งผลให้การหมุนเวียนของเม็ดเงิน ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจกระจายไม่ทั่วถึง กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ประกอบกับนโยบาย “MIND” ใช้ “หัว”และ “ใจ” ในการทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะการกระจายรายได้ให้กับประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ

ด้วยการชี้ช่องทางในการประกอบอาชีพและผลักดันองค์ความรู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเกิดผลิตภัณฑ์และงานบริการที่สอดคล้องกับ วิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ ผ่าน “โครงการนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไก “ดีพร้อม 4 โต” คือ โตได้ (Start) ที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตเป็นผู้ประกอบการใหม่ในชุมชน โดยการเพิ่มศักยภาพและต่อยอดทางธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาผสมผสานกับทรัพยากร ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ครอบครัว รวมถึงนำความรู้ที่ได้ไปประกอบเป็นอาชีพได้จริงและสามารถถ่ายทอดทักษะในการเป็นผู้ให้บริการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเหมาะสมให้กับคนในชุมชน และการเริ่มต้นประกอบธุรกิจในเบื้องต้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ก่อให้เกิดทั้งการจ้างงาน ตอบโจทย์ผู้บริโภคและบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งมีความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนแปลงไป

นายใบน้อย กล่าวต่อว่า ดีพร้อมได้ดำเนินงานโครงการนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมตามประเภทธุรกิจแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. อาหารและเครื่องดื่ม 2. สมุนไพร 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้ของตกแต่ง และ 5. การบริการ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมรวมทั้งสิ้นกว่า 16,000 ราย และสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำทักษะที่ได้รับไปต่อยอดประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริมสร้างรายได้จริงกว่าร้อยละ 90 อาทิ การทำแซนวิชสไตล์เกาหลี น้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ ผ้ามัดย้อม ยาหม่องสมุนไพร ศิลปะการร้อยกำไลจากหินมงคล นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชนกว่าร้อยละ 85 ของผู้เข้าร่วมฯ ตลอดจนสร้างทักษะให้นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมเป็นผู้ให้บริการ (Service Provider : SP) จำนวน 329 ราย 
หรือคิดเป็นร้อยละ 2.11 ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการจะส่งต่อองค์ความรู้และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ได้กว่า 7,000 ราย

นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” นอกจากจะสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็ง และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลให้ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 – 11 (DIPROM CENTER : DC) และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของดีพร้อม ซึ่งเป็นสถานที่หลักที่ใช้ดำเนินกิจกรรมนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมในแต่ละพื้นที่เป็นที่รู้จักและมีประชาชนเข้ามารับบริการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังได้รวบรวมข้อมูลของผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ จัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อที่ดีพร้อม สามารถนำความต้องการของผู้ใช้บริการไปพัฒนาต่อยอดโครงการ/ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สนองความต้องการของตลาดได้อีกด้วย ซึ่ง ดีพร้อมเซ็นเตอร์ ทั้ง 11 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเคียงข้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ตลอดจนส่งเสริม พัฒนา สนับสนุน และยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการทั้งรายเก่า-ใหม่ทั่วประเทศ นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย