“ศิธา” แนะปม “หยก” ต้องหาจุดที่พอดีของทั้ง 2 ฝ่าย ชี้ไม่ควรมีใครหลุดจากระบบการศึกษา

“ศิธา” แนะปม “หยก” ต้องหาจุดที่พอดีของทั้ง 2 ฝ่าย ชี้ไม่ควรมีใครหลุดจากระบบการศึกษา





ad1

"ศิธา"เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย มอง ปม “น้องหยก” หาทางออกได้ หากผู้ใหญ่เข้าไปพูดคุยกัน ยัน ไม่มีใครควรหลุดจากระบบการศึกษา ผิดก็ว่าไปตามผิด แนะควรหาจุดที่พอดีของทั้งสองฝ่าย 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี “น้องหยก” โดยมองว่า เด็กทุกคนไม่ควรที่จะต้องหลุดพ้นต่อระบบการศึกษา และในการแสดงออก หากรุนแรงเกินไป หรือเป็นตัวเองสูง ในมุมของตนมองว่า เยาวชนก็คือเยาวชน หากได้รับการพูดคุย เปิดใจ และรับฟังความคิดของเขา ก็จะหาทางออกได้ และยังเปรียบเรื่องนี้เหมือนการขี่ม้า ถ้าม้านิ่งๆ ไปแข่งที่ไหนก็ไม่ชนะ หากเป็นม้าที่มีกำลังวังชา เอามาแข่งในเส้นทางที่ถูกที่ควร เชื่อว่าจะเป็นม้าตัวที่ชนะ และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ ผู้ใหญ่ควรเข้าไปพูดคุย กลไกที่วินิจฉัยว่าน้องหยกจะพ้นจากการศึกษา ควรวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ชี้แจงว่า เรื่องที่น้องหยกทำผิดระเบียบไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่จะทำให้พ้นจากการศึกษา แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมอบตัว เกินกว่ากำหนดเวลา เราได้ข่าวจาก 2 มุม ทั้งมุมที่แสดงตนเป็นผู้ปกครอง ระบุว่า โรงเรียนรับปากให้เข้าเรียนได้ แต่ทางโรงเรียนอ้างกฎเกณฑ์ว่า ไม่สามารถเข้าเรียนได้ จึงควรมาเจอกันอย่างพอดี ต้องชัดเจนว่า หากหลุดออกจากระบบการศึกษา จะมีสถานศึกษาใดรองรับได้บ้าง โดยหลักการเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคุยกัน เพราะเด็กไม่ควรหลุดจากระบบการศึกษา เรื่องที่ผิดก็ว่ากันไปตามผิด การคาดโทษ การตักเตือนต้องอยู่ในกรอบ ต้องไม่ใช่การเอาหลายเรื่องมาปะปนกัน 

ส่วนการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของน้องหยก นายศิธา มองว่า เด็กสู้ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ คนมักเข้าใจว่า เผด็จการอยู่ตรงข้ามประชาธิปไตย และสิทธิ เสรีภาพก็คือ ประชาธิปไตย ส่วนตัวมองว่า เผด็จการอยู่ตรงข้ามสิทธิและเสรีภาพมากกว่า ประชาธิปไตยคือกฎเกณฑ์ที่ทำให้เราใช้สิทธิและเสรีภาพร่วมกันได้ โดยไม่รบกวนสิทธิ เสรีภาพผู้อื่น ฉะนั้น จึงมองว่า สิทธิและเสรีภาพที่มากเกินไป นอกจากจะรบกวนสิทธิของคนอื่น ก็อาจทำให้สังคมไม่มีระเบียบแบบแผน เราควรหาจุดที่พอดีของทั้งสองฝ่าย 

ขณะที่การย้อมสีผมของน้องหยก เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อระบบอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่น้องหยกต้องการสื่อสารกับสังคม มีหลายคนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้มากมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาถูกกดดันอยู่ เป็นสิทธิที่จะแสดงออก ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง สิ่งใดที่ควรแก้ไข ก็ต้องเร่งแก้ไข.