ทลายเครือข่ายแก๊งค์นายทุนเวียดนาม แอบอ้างชื่อแพทย์ดัง หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท

ทลายเครือข่ายแก๊งค์นายทุนเวียดนาม แอบอ้างชื่อแพทย์ดัง หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท





ad1

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกันแถลงข่าวกรณี ทลายเครือข่ายนายทุนชาวเวียดนาม แอบอ้างบุคลากรทางการแพทย์ชื่อดังหลายราย ดำเนเนคดีกับผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 27 รายการ มูลค่าความเสียหาย 61,354,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งจาก พญ.ณิชา (สงวนนามสกุล) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ศูนย์โรคผิวหนังโรงพยาบาลกรุงเทพ ว่าพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โรคผิวหนังในโรงพยาบาล - พญ.ณิชาฯ  นำชื่อ-นามสกุลของตน ไปแอบอ้างทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรายการ ตามเพจเฟซบุ๊กอย่างแพร่หลาย โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน


เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีการใช้ชื่อแพทย์ตามโรงพยาบาลชื่อดัง 3 ราย โดยมีการตัดต่อรูปภาพแพทย์ รวมถึงแอบอ้างสถานพยาบาลต่างๆ มาประกอบการโฆษณา โดยมีการจัดทำผู้ซื้อสินค้าและผู้รีวิวการใช้ปลอมขึ้น เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อในตัวแพทย์ และอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าเกินความจริงว่าสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ เช่น ท้าทุกอาการ ทา 5 วัน ไร้คันช่วยปกป้อง, เสริมสร้างการทำงานของตับ, ช่วยในการฟื้นตัวของร่างกาย กำจัดเชื้อโรคจากภายในร่างกายจากเม็ดเลือด และช่วยในการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น โดยมีการขายในลักษณะ Call-Center คือเมื่อมีผู้บริโภคทำการสั่งซื้อ โดยกรอกรายละเอียดของผู้ซื้อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับผ่านเว็บไซต์ หรือกล่องข้อความทางเพจเฟซบุ๊ก จะมีการติดต่อกลับซึ่งเป็นข้อความในรูปแบบข้อความอัตโนมัติ เพื่อบรรยายสรรพคุณเกินจริง โน้มน้าวให้ผู้ซื้อหลงเชื่อตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งหลังจากที่ผู้บริโภคได้ใช้สินค้า แล้วพบว่าไม่ได้ผลตามโฆษณา ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะปล่อยผ่านไปไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ จึงเป็นการเอาเปรียบหลอกลวงผู้บริโภคที่คาดหวังผลการรักษา ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงทำให้เสียโอกาสทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง

เมื่อทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM ที่เว็บไซต์ดังกล่าวขาย พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่แสดงฉลากภาษาไทย, ไม่มีการแสดงเลข    สารบบอาหาร และเครื่องสำอางไม่มีการแสดงเลขจดแจ้ง จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด พบว่ากลุ่มดังกล่าวนายทุนชาวเวียดนามมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ที่ใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Sorion เป็นจำนวนมาก รวม 27 เพจ เพื่อกระจายการโฆษณาหากถูกปิดกั้นเพจ โดยมีการโฆษณาขายสินค้าและรับออเดอร์สินค้าอยู่ที่ประเทศเวียดนาม และทำการส่งข้อมูลการจัดส่งสินค้าให้กับพนักงานในประเทศไทย ทำการบรรจุและจัดส่ง โดยมีผู้สั่งการในประเทศไทยเป็นชาวเวียดนามทำหน้าที่ดูแล สั่งการอีกทางหนึ่ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำหมายศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค.297/2566 เข้าทำการตรวจค้น สถานที่เก็บและบรรจุสินค้า ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบนายเสน่ห์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าตนมีหน้าที่ปิดฉลาก-บรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์ และจัดส่งให้กับลูกค้า แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM,ผลิตภัณฑ์เสริมอารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou  และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 13 รายการ

จากนั้นได้ทำการสืบสวนขยาบผลทราบว่ามีสถานที่เก็บ, บรรจุ และจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายอีกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ซ.๓๗ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบ นายชัยพร (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว มีหน้าที่บรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์และจัดส่งให้กับลูกค้า เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 14 รายการ