อ้างประเพณี สงกรานต์ มายกเว้นกฎหมายได้หรือไม่

อ้างประเพณี สงกรานต์ มายกเว้นกฎหมายได้หรือไม่





ad1

อ้างประเพณี สงกรานต์ มายกเว้นกฎหมายได้หรือไม่ *
พอเอ่ยถึง “วันสงกรานต์” ทุกคนมักจะนึกถึง “การสาดน้ำปะแป้ง” ส่วน คนทำงาน ก็มักจะนึกถึง “ วันหยุดราชการ” ของประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่13-15 เมษายนของทุกปี


แล้วประเพณี “การรดน้ำดำหัว”ของไทยหายไปไหน ?
มาดูกันว่า “สงกรานต์” หรือ “ประเพณีสงกรานต์” มาจากไหน
"สงกรานต์" มาจากคำในภาษาสันสกฤต แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" สงกรานต์ตรงกับการเริ่มต้นของราศีเมษ. และตรงกับวันปีใหม่พื้นถิ่นในหลายวัฒนธรรมของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
ประเพณีสงกรานต์ / ประเพณี "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เป็นพิธีโบราณของทางเหนือ โดย "รดน้ำดำหัว" เป็นการไป “รดน้ำขอขมา” และ “ขอพร” จากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ในอดีต “การรดน้ำ” คือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วน “ดำหัว” เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึง การสระผม ซึ่งก็เป็นการไปสระผมให้ผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำส้มป่อย หรือน้ำมะกรูด
ดังนั้น "การรดน้ำดำหัว" นอกจากจะเป็นการขอพรจากผู้อาวุโส เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ไทยแล้ว ยังมีความหมายแฝงอีกอย่างคือ การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เพื่อขอโทษต่อสิ่งที่เคยล่วงเกิน ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลัง

จากประเพณี “รดน้ำดำหัว” กลายเป็น “ สาดน้ำปะแป้ง” ไปได้อย่างไร ?
อย่างที่กล่าวแล้วว่า.... ประเพณีสงกรานต์ จะเริ่มต้นช่วงระหว่าง 13- 15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน และจะมีอากาศร้อน ดังนั้น “สายน้ำ” จะช่วยทำให้ “คลายร้อน” และ “ทำให้เย็น” เมื่อถูก “รดน้ำ” หรือ “สาดน้ำ” จะทำให้เย็น และเกิดความสนุกสนาน และเมื่อ “สาดน้ำเสร็จ” ก็จะ “ปะแป้ง”ให้เสร็จ ซึ่งแป้งที่ใช้ก็มักจะใช้ “ดินสอพอง” ซึ่งมีความเย็น ดังนั้น แม้จะถูก “สาดน้ำ” และ “ปะแป้ง” คนที่ถูกสาดน้ำปะแป้งก็มักจะไม่โกรธ เพราะนอกจากจะเป็นช่วงประเพณีสงกรานต์แล้วก็จะเกิดความสนุกสนานเกิดความเย็น เกิดการหยอกล้อกัน
แต่ “การสาดน้ำ” และ” การปะแป้ง” ประเพณีที่ถูกแปรเปลี่ยนไป หาใช่เป็นประเพณีที่ดีงามดังเช่นประเพณี “ การรดน้ำดำหัว” ในอดีต และอาจจะไม่ถูกกฎหมายและอาจถูกดำเนินคดีได้ ถ้า.....

(1) ผู้ถูกสาดน้ำ/ ถูกปะแป้ง ไม่ได้อนุญาต หรือยินยอมให้กระทำ ( แม้จะอยู่ในช่วงระหว่างเทศกาลสงกรานต์ก็ตาม ) อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 397 : ถ้า “การสาดน้ำ” หรือ “การปะแป้ง” ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเหตุให้
เป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000.-บาท
ถ้าเป็นการกระทำ ในที่สาธารณสถาน หรือ ต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000.-บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำเป็น “ผู้บังคับบัญชา” “นายจ้าง” หรือ “ผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 .-บาท

(2.) การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่ใบหน้า เนื้อตัวร่างกาย หรือ การใช้ น้ำผสมน้ำแข็ง (ซึ่งมีความเย็นมากและมีความแข็ง) สาดใส่ตัว /รดใส่หัว ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ อาจเป็นความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย” ซึ่งจะมีระดับความรับผิดแตกต่างกันไปตาม ความรุนแรง หรือ บาดแผลที่ได้รับ ดังนี้
มาตรา 391 – ผู้ใด ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 295 – ผู้ใด ทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000.-บาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ"
มาตรา 297 ผู้ใด กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส เช่น ตาบอด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 .-บาทถึง 200,000.-บาท
(3) การสาดน้ำ การฉีดน้ำ แล้วทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เช่น โทรศัพท์มือถือ ทรัพย์สินอุปกรณ์ภายในรถยนต์, เบาะที่นั่งภายในรถยนต์เสียหาย หรือทรัพย์สินอื่นที่เขาถือติดตัวมาเปียกน้ำได้รับเสียหาย ผู้กระทำ (สาดน้ำ/ ฉีดน้ำ) อาจมีความผิดฐาน “ ทำให้เสียทรัพย์” ได้

มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000.- บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(4) การ “สาดน้ำ” เพื่อให้เขาไม่ทันระวังตัวแล้วปะแป้ง หรือการใช้มือลูบใบหน้าแล้วเรื่อยลงมาที่หน้าอก หรือ ของสงวนเบื้องล่างของผู้อื่น รวมถึง การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่ไปที่บริเวณ อวัยวะเพศหรือของสงวน ก็อาจมีความผิดฐาน “ กระทำอนาจาร” ได้

มาตรา 278 “ผู้ใด กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
หมายเหตุ- “ การกระทำอนาจาร” คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2534 การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่ กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547 คำว่า “อนาจาร” มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้นจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278
มาตรา 280/1 - ถ้า การกระทำอนาจารดังกล่าว (เช่นปะแป้งแล้วลูบหน้าอก จับของสงวน) ได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารนั้นไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม
ถ้าได้มีการ เผยแพร่ หรือ ส่งต่อ ซึ่งภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ดังกล่าว ต้องระวางโทษ หนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง
มาตรา 281 ถ้า “การกระทำอนาจาร ” (เช่นปะแป้งแล้วลูบหน้าอก จับของสงวน) มิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ให้ถือว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ สามารถ “ถอนคำร้องทุกข์ ” ได้

(5) ถ้าการเล่นสงกรานต์ดังกล่าว (สาดน้ำ /ปะแป้ง) มีการปิดกั้นขวางทางไม่ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ / รถยนต์ขับผ่านไป เพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ /รถยนต์ยอมให้ (บังคับ) ให้ตนเอง สาดน้ำ ปะแป้ง ได้ อาจมี “ความผิดต่อเสรีภาพ” ได้

มาตรา 310 ทวิ - ผู้ใด “ หน่วงเหนี่ยว” หรือ “กักขัง” ผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่น “ ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย” และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

(6) การเปิดเพลงเสียงดังรบกวนผู้อื่น อาจเป็นความผิด
มาตรา 370 ผู้ใด ส่งเสียง ทำให้เกิดเสียง หรือ กระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจ หรือ เดือดร้อน ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
มาตรา 397 ผู้ใด กระทําด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือ กระทําให้ได้รับความอับอาย หรือ เดือดร้อนรําคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000.-บาท
นี่เป็นเพียงความผิดบางส่วนที่คุณอาจนึกไม่ถึง ส่วนจะอ้างว่าเป็น “ประเพณี” มาเป็น “เหตุยกเว้นความรับผิด” ได้หรือไม่นั้น
“ ประเพณี” หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแปลกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น
สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ
“ประเพณี ” จึงป็น สิ่งดีงาม แต่อย่างไรก็ตาม “ประเพณีไม่ใช่กฎหมาย” ดังนั้น จะอ้างว่าทำตามประเพณีแล้วมาเป็นเหตุยกเว้นความผิด หาได้ไม่
ดังนั้น การเล่นน้ำสงกรานต์ จึงสมควรเล่นแต่พองาม และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ผู้อื่นและต้องไม่กระทำการที่ผิดกฎหมาย จึงจะได้ชื่อว่า “รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย”
จึงเป็น “ ดุลยภาคระหว่าง การรักษาประเพณีสงกรานต์ กับ การกระทำที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ”


*นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร