ชาวโคราชหนุนรฟท.สร้างอาคารใหม่คู่อนุรักษ์สถานีเก่าสมัยร.5 รับรถไฟความเร็วสูง-ทางคู่

ชาวโคราชหนุนรฟท.สร้างอาคารใหม่คู่อนุรักษ์สถานีเก่าสมัยร.5 รับรถไฟความเร็วสูง-ทางคู่





ad1

นครราชสีมา-ชาวโคราชบ่นอุบ เสียดาย รฟท.จ่อทุบรื้ออาคารสถานีรถไฟโคราชออก หวังปรับพื้นที่พัฒนาระบบราง รองรับรถไฟความเร็วสูง-รถไฟทางคู่  เชียร์ รฟท.สร้างอาคารใหม่คู่อนุรักษ์อาคารสถานีเก่า สมัย ร.5 ให้คงอยู่คู่เมืองโคราช

จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมให้ผู้รับจ้างทุบรื้อถอนตัวอาคารสถานีรถไฟนครราชสีมาเดิม เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟใหม่ สูง 3 ชั้น รองรับโครงการไฮสปีด เทรน และรถไฟทางคู่  โดย รฟท.ได้รับจัดสรรงบประมาณให้มาดำเนินการทุบรื้อแล้ว และแผนเดิม จะทุบรื้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งระหว่างนี้ กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน นำโดยนายวีรพล จงเจริญใจ นายกกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ได้หารือร่วมกับภาคีอนุรักษ์เมืองนครราชสีมา  แกนนำสภาพลเมืองโคราช และสถาบันการศึกษา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ค้านการทุบรื้ออาคารสถานีรถไฟนครราชสีมา และกำหนดแนวทางการอนุรักษ์อาคารสถานีเอาไว้ในแผนพัฒนาระบบราง พร้อมกับจัดกิจกรรมกระตุ้นประชาชนในจังหวัดให้ตื่นตัว ร่วมแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ ขอรายชื่อชาวโคราชที่เห็นความสำคัญของอาคารแห่งนี้ และต้องการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงประวัติศาสตร์สำคัญของชาวโคราช ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สัมผัสเรียนรู้ถึงรากเหง้าและร่องรอยประวัติศาสตร์ของตนเอง ก่อนเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจนำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่สถานีรถไฟนครราชสีมาอีกครั้ง ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการรื้อถอนอาคารสถานีรถไฟฯ แต่อย่างใด มีรถไฟวิ่งผ่านสถานีฯ ทั้งขาขึ้นและขาล่องตามกำหนดเวลา และยังเปิดให้ประชาชนมาใช้บริการอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่และพนักงานรถไฟยังคอยอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับผู้ที่มาใช้บริการกันตามปกติ  และยังคงมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางด้วยรถไฟ ถึงแม้จะไม่รวดเร็วเท่ากับเดินทางด้วยรถยนต์-รถโดยสาร แต่ก็มีความสะดวก ปลอดภัย ประหยัด และสามารถขนข้าวของสัมภาระได้มากกว่า ทั้งนี้ เมื่อสอบถามประชาชนถึงเรื่องการทุบรื้ออาคารสถานีเก่าที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  เพื่อปรับพื้นที่พัฒนาระบบรางให้มีความทันสมัย รองรับความเจริญต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่พื้นที่ ก็พบว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากให้ทุบรื้ออาคารสถานีเดิมออก อยากให้คงเอาไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังๆ ได้เห็น

เช่น นางฉะอ้อน เจ้าสันเทียะ อายุ 72 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมา แต่ย้ายตามสามีไปอยู่ที่ อ.พาชี จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นสถานีแห่งนี้ก่อสร้างมาก่อนแล้ว จึงคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ  เพราะบ้านอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ เวลาจะเดินทางไปไหน ก็จะใช้บริการรถไฟทุกครั้ง ซึ่งคนพื้นถิ่นโคราชจะเรียกสถานีรถไฟนครราชสีมาแห่งนี้ ว่า “สถานีหัวรถไฟ”  ถึงแม้ว่าตอนนี้ย้ายตามสามีไปอยู่ที่อยุธยา แต่ยังใช้บริการรถไฟเป็นประจำ  เพราะสะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง จะนั่งรถไฟขึ้น-ล่อง ระหว่างอยุธยากับโคราช   และเมื่อทราบข่าวว่า จะมีการทุบรื้ออาคารสถานีหัวรถไฟ เพื่ออาคารสถานีใหม่สูง 3 ชั้น

และพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้วางระบบรางใหม่ ตนก็รู้สึกใจหาย รู้สึกเสียดาย เพราะอาคารเก่ายังดูสวยงาม มีเอกลักษณ์ มาทุกครั้งก็จะเห็นอาคารตั้งตระหง่านคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 72 ปีที่เกิดมาก็เห็นอยู่อย่างนี้  จึงรู้สึกผูกพันและเสียดายหากจะต้องถูกรื้อทิ้ง  ถ้าจะปรับปรุงพัฒนาโดยใช้แบบแปลนใหม่ แต่อนุรักษ์ของเก่าเอาไว้ตนก็เห็นดีด้วย จะได้ตกไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้เห็น และได้ภาคภูมิใจที่การรถไฟไทย ได้พัฒนามาเรื่อยตั้งแต่อดีต และจะต่อยอดออกไปจนมีรถไฟความเร็วสูงให้เห็น บ้านเมืองจะได้เจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจจะได้ดียิ่งขึ้น

ด้านนางเยี่ยม วิชิตโพธิ์กลาง อายุ 67 ปี แม่ค้าขายน้ำรายหนึ่ง บอกว่า ตนเร่ขายน้ำในสถานีรถไฟแห่งนี้มาตั้งแต่ลูกๆยังเล็ก ก็หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีการทุบรื้อสร้างสถานีขึ้นใหม่ ก็รู้สึกเสียดายและดีใจไปคู่กัน ดีใจที่จะได้มีอะไรที่ทันสมัย บ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่ที่เสียดายก็คือ ไม่อยากให้โครงสร้างเก่าถูกทุบรื้อหายไป  น่าจะมีหนทางอนุรักษ์ของเก่า-อาคารเก่าไว้บ้างก็จะดี เพราะอาคารสถานีนครราชสีมาแห่งนี้ก็อยู่คู่กับชาวโคราชมานาน เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญที่นำมาสู่เมืองโคราช  เชื่อว่า ชาวโคราชทุกคนย่อมรู้สึกเสียดายและคิดเหมือนกับตน  ว่า น่าจะมีทางออกที่ดีกว่าการทุบรื้อทิ้งเพียงอย่างเดียว .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา