โครงการส่งเสริมการแปรรูปใช้ยางภายในประเทศพ่นพิษสถาบันเกษตรกรใต้ขาดทุนหลายสิบล้าน

โครงการส่งเสริมการแปรรูปใช้ยางภายในประเทศพ่นพิษสถาบันเกษตรกรใต้ขาดทุนหลายสิบล้าน





ad1

สถาบันเกษตรกรภาคใต้ ได้รับความเดือนร้อน และประสบปัญหาขาดทุนหลายสิบล้าน หลังเข้าร่วมโครงส่งเสริมการแปรรูปใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยลงทุนสร้างแท้งแบริเออร์กั้นเกาะกลางถนนกว่า 12,200 กม. แต่สร้างได้ 200 กม. ก็ยุติโครงการ ชาวสวนยางพารา ห้างร้าน บริษัท ที่ทำตามนโยบายของรัฐบาล ขาดทุนอ่วม 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 66 ที่โรงงานแปรรูปยางพารา สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา นายกิตติธัช ณวาโย  ประธานเครือข่ายสถาบันแปรรูปยางพาราแห่งประเทศไทย และผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด  พร้อมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรจังหวัดภาคใต้ ร่วมกันแถลงข่าว หลังได้รับความเดือนร้อนและกำลังประสบกับปัญหาการขาดทุน

นายกิตติธัช กล่าวว่า ความเดือดร้อนของสถาบันเกษตรกรภาคใต้หลายแห่งเกิดจากความไม่ต่อเนื่องของงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด และเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรในภาคใต้  ได้เข้าร่วมนโยบายส่งเสริมการแปรรูปใช้ยางพาราในประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2562 สิ้นสุดในปี 2566 แต่โครงการดังกล่าว ดำเนินเพียงปี 2562 และปี  2563 และได้ใช้งบประมาณไปเพียง 1,200 ล้านบาท

หลังจากนั้น ทางกรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวง ก็จะงดในการสั่งซื้อ ทำให้สถาบันเกษตรกรที่ได้ลงทุนไปแต่ละแห่งเป็นเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท กำลังจะประสบปัญหากับการขาดทุน และที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหรือคำตอบที่ชัดเจน

วันนี้ทางเครือข่ายจึงออกมาแถลงข่าว ถึงความเดือดร้อนและขอวอนให้นายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการต่อ ซึ่งนอกจากจะมีการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศไทยแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชาวสวนยางเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิจำกัด ได้เข้าร่วมโครงการด้วยการผลิตแท่งแบริเออร์เพื่อกั้นเป็นเกาะกลาง ซึ่งตามแผนงบประมาณ จะผลิตให้ได้ 12,282 กิโลเมตร แต่มีการสั่งซื้อเพียง 200  กิโลเมตร  และโครงการก็ได้หยุดไป

ตนในฐานะประธานเครือข่าย ได้เข้าไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่วันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ และทุกหน่วยงานที่ไปติดต่อ มีแต่ความเพิกเฉย จึงอยากร้องเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของ สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกร ชาวสวนยางเป็นสมาชิก

นายกิตติธัช  ยังกล่าวต่อว่า  อยากให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ กระทรวงคมนาคม ได้กรุณาให้สถาบันเกษตรกรได้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระการขาดทุนและการสร้างอาชีพของพี่น้องลูกหลานชาวสวนยางสืบไป 

โดยเครือข่ายสถานบันการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย และทางห้างร้าน ตลอดจนบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องจักรแม่พิมพ์ ต่างได้ลงทุนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อหวังช่วยเหลือส่งเสริมให้หน่วยราชการและสหกรณ์  กลุ่มเกษตรกร ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ

“แต่รัฐบาลได้หยุดโครงการนี้ ทำให้ต้องมีภาระหนี้สินอย่างตั้งหลักไม่ทัน ขอท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาส่งเสริมให้โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อไป”. 

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ