"อุตตม" แนะยึดหลัก "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินสู่เป้าหมายเดียวกัน" ทางออกความขัดแย้ง

"อุตตม" แนะยึดหลัก "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินสู่เป้าหมายเดียวกัน" ทางออกความขัดแย้ง





ad1

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.อุตตม สาวนายน  ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า สวัสดีครับ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ผมได้ไปร่วมเวที Economic Drives เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก จัดโดยโพสต์ทูเดย์ และเนชั่นทีวี มีผู้นำด้านเศรษฐกิจและนักธุรกิจมาร่วมหลายท่าน โดยเฉพาะดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ UNCTAD อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ที่มากล่าวปาฐกฐาพิเศษในเวทีนี้ด้วย อยากให้ทุกท่านได้ติดตามสิ่งที่ท่านพูด เพราะมีแง่คิดที่ดีมากๆ

ผมร่วมเวทีในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เป็นเวทีแรกที่ผมกลับมาในนามพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคได้มอบหมายให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ผมขอถือโอกาสนี้เรียนทุกท่านว่า ผมและทีมงานที่เคยทำงานร่วมกันมาแต่เดิมรวมทั้งที่ระดมเข้ามาใหม่ กำลังมุ่งมั่นเต็มที่ในการกำหนดนโยบายใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ประเทศ และตอบสนองการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย

ตามหัวข้อที่ผู้จัดงานตั้งไว้ว่า “เศรษฐกิจไทยจะสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่มาก ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่าวันนี้ประเทศไทยเสี่ยงกับการก้าวไม่ทันโลก แม้กระทั่งเพื่อนๆเราในอาเซียน เพราะหลายปีที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหามากมายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง กระทบความสามารถประเทศจนถดถอย ขณะที่มีความท้าทายอีกมากรออยู่ข้างหน้า

การจัดการกับปัญหาและความท้าทายที่รุมเร้า จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายคนละไม้คนละมือ มิฉะนั้นเราคงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งสอดรับกับแนวทางนโยบายประชารัฐของพรรคพลังประชารัฐที่ผมและทีมงานมีส่วนในการพัฒนามาแต่เดิม โดยความหมายของแนวคิด “ประชารัฐ” คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน มุ่งไปที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านกระบวนการที่มีกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ๆชัดเจน เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสใหม่ๆให้คนไทยอย่างครอบคลุมทั่วถึงภายใต้การออกแบบและจัดการที่สอดรับกับการจัดสรรและใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ 

ในเชิงปฏิบัติผมเห็นว่าเราควรเร่งดำเนินการคู่ขนานใน 2 ส่วน คือ

1. แก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือ การบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เริ่มจากประชาชนและผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อยที่กำลังขาดสภาพคล่องรุนแรง ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเบ็ดเสร็จ การเติมทุนใหม่ให้ทำมาหากินได้ต่อ รวมถึงการเพิ่มความรู้ทักษะที่สามารถสร้างโอกาสการประกอบอาชีพใหม่ๆ

2. เร่งรัดวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนก้าวทันโลกให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยถ้วนหน้า เริ่มจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพตั้งแต่ระดับฐานรากให้ครอบคลุมทุกมิติหลัก เช่น การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาอุตสาหกรรม/บริการใหม่ๆ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงข่ายการคมนาคมและโครงข่ายดิจิตัลทั่วประเทศ  และที่สำคัญยิ่ง คือ การพัฒนาคน โดยเน้นสร้างความพร้อมให้คนไทยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การเสริมปรับทักษะอาชีพให้สามารถทำงานและได้รับโอกาสมากขึ้น การดูแลให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการพื้นฐานที่คนไทยได้รับอย่างทั่วถึงเป็นต้น 

สุดท้ายการที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวนำโลกได้นั้น ประเด็นสำคัญต้องก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้เสียก่อน เราสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นต้องตั้งอยู่ในทิศทางที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนั้นผมจึงเสนอให้ทุกฝ่ายยึดหลัก “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินสู่เป้าหมายเดียวกัน” เป็นทางออกจากความขัดแย้ง