อธิการ มข.เผย ครอบครัวนศ.แพทย์เหยื่อรถชนดับเรียกเงินชดเชย 66 ล้าน ต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น

อธิการ มข.เผย ครอบครัวนศ.แพทย์เหยื่อรถชนดับเรียกเงินชดเชย 66 ล้าน ต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น





ad1

ขอนแก่น-อธิการบดี ม.ขอนแก่นนัดหารือคณะผู้บริหารฯ หาทางเยียวยาครอบครัว “น้องอาย”นศ.แพทย์ปี 2 ถูกรถบัสคณะพยาบาลศาสตร์ชนเสียชีวิต ยอมรับเสียใจและเห็นใจเปรียบเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เบื้องต้นได้ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1.3  แสนตามระเบียบปฏิบัติ ส่วนข้อเรียกร้องชดเชย 66 ล้านบาทต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น เพราะ ม.ขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

จากกรณีรถบัสคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.เฉี่ยวชนน.ส.อรุณนภา วัฒนพานิช หรือน้องอาย อายุ 19 ปี นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ มข.จนเสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณสามแยกคณะเภสัชศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา  โดยหลังเกิดเหตุทางครอบครัวและทนายความ ได้ทำการเจรจาค่าชดเชย กับทางตัวแทนของมหาวิทยาลัย หลังสิ้นสุดการฌาปนกิจศพ โดยทางครอบครัวของน้องอาย ได้ขอค่าเยียวยาการตายของน้องอาย กรณีที่เรียนจบแล้วได้เป็นแพทย์ ตั้งแต่อายุ 25 ปี จนถึงเกษียรราชการ อายุ 60 ปี ค่าจ้างวันละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 66 ล้านบาท โดยการเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้  เมื่อเวลา 10.30  น.วันที่ 27 ส.ค.2565 ที่สำนักงานอธิการบดี ชั้น 6 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฯ, ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย ,ผศ.ดร.พักตร์วิไล ศรีแสง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และผู้แทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกันประชุมหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวน้องอาย 

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า   มหาวิทยาลัยฯเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากนักศึกษาเป็นสมาชิกเปรียบเสมือนคนในครอบครัวของมหาวิทยาลัยและเป็นเยาวชนที่เป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ หลังจากนักศึกษาเสียชีวิตผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัย คือ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ }คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัย ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนักศึกษา และได้ร่วมกับครอบครัวของนักศึกษาในการจัดงานบำเพ็ญกุศล โดยคณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดเตรียมงานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมทุกวันจนถึงพิธีฌาปนกิจ  พร้อมกันนี้ทาง มหาวิทยาลัยก็ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวนักศึกษา มหาวิทยาลัยมีหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีนักศึกษาประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิต จำนวน 130,000 บาท ไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าจะไม่สามารถเรียกเงินสินไหมทดแทน หรือเงินชดเชยได้อีก แต่เป็นการช่วยเหลือตามประกาศของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

"ส่วนกรณีที่ได้มีการเรียกเงินสินไหมทดแทนการเสียชีวิตนั้นมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจ และเห็นใจครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และเป็นความหวังของครอบครัวไป ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายในกรณีที่พนักงานของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก จะกระทำได้ 2 วิธี คือ โดยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือโดยคำสั่งของศาลเท่านั้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าวผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะได้แจ้งให้ครอบครัวนักศึกษาได้ทราบต่อไป"

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอเรียนให้บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทราบว่า มหาวิทยาลัยมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป้นอย่างมาก  มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มากกว่า 5,000 ไร่ ในแต่ละวันมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์สัญจรมากกว่า 50,000 คัน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงทางกายภาพและวางระบบความปลอดภัยทางจราจรมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนเกิดเหตุมหาวิทยาลัยมีโครงการความปลอดภัยทางการจราจร 2 โครงการ  ได้แก่  โครงการประตูอัจฉริยะ (Smart Gate) ประกอบด้วย การติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่ออ่านป้ายทะเบียน และเครื่องแขนกั้นอัตโนมัติควบคุมประตูเข้า-ออกมหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณรถที่วิ่งเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยไม่จำเป็นเพื่ออาศัยเป็นเส้นทางผ่านไปที่อื่น

 และ โครงการจำกัดความเร็วรถยนต์ (Speed Limit LED Display) โดยติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วพร้อมจอแจ้งเตือนเพื่อจำกัดความเร็วของรถในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้กำหนดความเร็วของรถยนต์ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ไม่เกิน 50 กม. /ชม.และในทางร่วมทางแยก ไม่เกิน 30 กม./ชม.แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้วางแผนมาตรการความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยทำโครงการติดตั้งไฟจราจรเพิ่มในมหาวิทยาลัยในจุดที่เกิดเหตุ  และในทางร่วมทางแยกจะมีการนำระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจร   โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยบริหารจัดการให้การเคลื่อนที่ของรถมีความต่อเนื่องและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น