แผ่นดินไหวขย่มเมียนมา 6.4 ทำกำแพงบ้านพัง-หินถล่มทับเส้นทางอาร์3บี ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง256507

แผ่นดินไหวขย่มเมียนมา 6.4 ทำกำแพงบ้านพัง-หินถล่มทับเส้นทางอาร์3บี ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง256507





ad1

รัฐฉาน เมียนมา - แผ่นดินไหว 6.4 แมกนิจูด แถมอาฟเตอร์ช็อกรัวต่อเนื่องจนถึงเช้า ทำรัฐฉานตะวันออกเสียหาย หินภูเขาถล่มทับถนนอาร์สามบี เส้นทางเชื่อมท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง กำแพงบ้านเรือนชาวไตพังเสียหาย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวความคืบหน้ากรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศเมียนมา เมื่อ 00.07 น.ที่ผ่านมา วัดความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ 6.4 แมกนิจูด ลึกลงไปใต้ดิน 3 กิโลเมตร ศูนย์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปในประเทศเมียนมาประมาณ 87 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ทั่วไปบริเวณพื้นที่ชายแดนทั้ง อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เมืองเชียงราย อ.ดอยหลวง อ.ขุนตาล อ.เวียงชัย และหลายจังหวัดภาคเหนือนั้น

ล่าสุดพบว่าหลังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง ได้ทำให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ของรัฐฉาน โดยที่เมืองแพรก พบหินขนาดใหญ่ร่วงจากภูเขาสไลด์ทับเส้นทางอาร์สามบีที่เชื่อมระหว่าง จ.ท่าขี้เหล็ก-จ.เชียงตุง โชคดีช่วงเกิดเหตุไม่มีรถสัญจรผ่านไปมาทำให้ไม่มีผู้ได้รับอันตราย ขณะที่เจ้าหน้าที่เมียนมาได้นำเครื่องจักรและกำลังคนเข้าไปขุดตักหินเพื่อให้สามารถเปิดใช้เส้นทางตามปกติ

ส่วนภายใน จ.เชียงตุงมีรายงานว่ากำแพงบ้านเรือนชาวไตพื้นที่บ้านหนองห้อง เอิ่งกาดฟ้า พังทลายเสียหายไปทั้งแถบ แต่ไม่มีรายงานว่ามีผู้ได้รับอันตราย

นอกจากนี้ยังปรากฏมีคลิปแรงสั่นสะเทือนในเขตเมืองลาซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของประเทศเมียนมา ติดชายแดนประเทศจีน โดยพบว่าตู้เก็บของหลายตู้โยกโครงไปตามแรงสั่นและมีข้าวของตกหล่นลงมาซึ่งผู้เผยแพร่คลิปแจ้งว่าเกิดเหตุช่วงแผ่นดินไหวครั้งนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนว่าเป็นคลิปที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวจริงหรือไม

ทั้งนี้ แผ่นดินไหวดังกล่าวมีความแรงคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 70 กิโลเมตร และมีความรุนแรงถึง 6.8 แมกนิจูด เป็นผลทำให้ถนน บ้านเรือน ฯลฯ ในรัฐฉานเสียหายอย่างหนักและส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ทำให้โบราณสถานที่ อ.เชียงแสน บ้านเรือน ฯลฯ ในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน

นักวิชาการระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดจากรอยเลื่อนน้ำมา ที่เป็นรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ หรือจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เข้าไปใน สปป.ลาว อย่างไรก็ตามครั้งนี้พบความรุนแรงที่น้อยกว่า