อพท.6 เร่งขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก

อพท.6 เร่งขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก





ad1

น่าน-อพท.6  จัดประชุมภาคีเครือข่ายและผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ศักยภาพของเมืองน่าน เตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก

สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  โดยนางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6  เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับเมืองน่านให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ และคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์คณะจัดทำใบสมัครเมืองสร้างสรรค์จังหวัดน่าน  พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย  ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อค้นหาต้นทุนและวิเคราะห์ศักยภาพของเมืองน่าน เตรียมการจัดทำใบสมัครการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในรอบการเปิดรับสมัครประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565  ณ ห้องประชุมโรงแรมน่านบูติค รีสอร์ท ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

 การประชุมหารือดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ รองคณะบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร   นางสาวกนกวรรณ คุ้มวงศ์ อดีตนักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มดนตรี สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม  นายวีรวิทย์  ฉันทวรางค์ รักษาการรองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 สุโขทัย ในฐานะผู้ร่วมดำเนินการจัดทำใบสมัครของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้รับการพิจารณาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2562  คณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับเมืองน่านให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ และคณะจัดทำใบสมัครเมืองสร้างสรรค์จังหวัดน่าน  พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อาทิ ประธานชมรมพุทธศิลป์  ประธานชมรมที่พักจังหวัดน่าน ที่ปรึกษาคลัสเตอร์เครื่องเงินน่าน  หอการค้าจังหวัดน่า

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันค้นหาและวิเคราะห์ต้นทุนศักยภาพด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของเมืองน่านที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำน่าน  สะท้อนและปรากฏร่องรอยผ่านจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอาราม เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรม  โดยเฉพาะภาพปู่ม่าน ย่าม่าน  จิตรกรรมบนฝาผนังวัดภูมินทร์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์มรดกทางศิลปะที่สร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่สะท้อนวิถีชีวิตในอดีตกาล ทั้งการทอผ้า การใช้เครื่องจักสาน และเครื่องดนตรีพื้นบ้าน  ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตเหล่านั้นยังคงอยู่กับคนน่าน  โดยที่ประชุมจะรวบรวมข้อมูลสำคัญเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมใบสมัครเข้ารับการพิจารณาเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในรอบการเปิดรับสมัครในปี 2566 ต่อไป

ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน