อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ทอดผ้าป่าสมัคคีสร้างรูปเหมือน “ขุนรองปลัดชู”วีรบุรุษเมืองวิเศษไชยชาญ

อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ทอดผ้าป่าสมัคคีสร้างรูปเหมือน “ขุนรองปลัดชู”วีรบุรุษเมืองวิเศษไชยชาญ





ad1

อบจ.ประจวบคีรีขันธ์จัดพิธีทอดผ้าป่าสมัคคีสร้างรูปเหมือน “ขุนรองปลัดชู”วีรบุรุษเมืองวิเศษไชยชาญ อดีตผู้ต้านทัพพม่าและจบชีวิตที่ อ่าวหว้าขาว(ปัจจุบันคือพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์     จัดพิธีทอดผ้าป่าสมัคคีเพื่อสร้างรูปเหมือนขุนรองปลัดชู โดยมี      พระครูพิศิษฏ์ธรรมนิเทศ วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พลตรี ดร.วรวุฒิ แสงทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน.  นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์  นายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์  ดร.มังกรแก้ว ดรุณศิลป์   ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์  และดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย  ประธานมูลนิธิธรรมดี   ร่วมเป็นประธานและนำข้าราชการท้องถิ่น ชาวทุ่งมะเม่าและชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รวมถึงชาววิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง    ประกอบพิธีบวงสรวงบูชาและทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับขุนรองปลัดชู และนักรบ 400 นาย  ที่ได้สละชีวิตต้านทัพพม่าปก

ป้องอธิปไตยของไทยจนต้องจบชีวิตลง ณ บริเวณชายทะเลหาดหว้าขาวแห่งนี้   พร้อมกันนี้ยังได้ทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อร่วมสมทบทุนสร้างรูปเหมือนขุนรองปลัดชูขนาด 2 เท่าคนจริง เพื่อประดิษฐานไว้ ณ บริเวณอนุสรณ์สถานชายทะเลหาดหว้าขาวแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ขุนรองปลัดชูและนักรบทั้ง 400 นาย จากเมืองวิเศษชัยชาญต้านทัพพม่าจนเสียชีวิต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวได้สักการะและรำลึกถึงบุญคุณและวีรกรรมความกล้าหาญ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

ขุนรองปลัดชู   เป็นผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันคืออำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา

เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คนแล้ว ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์*   ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่าที่นำโดยเจ้ามังระราชบุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยายมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เพื่อใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่ง กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์* (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก 500 คน)   กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า

และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น ด้านทัพของพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย" ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดยสะดวก เนื่องจากแนวรับต่าง ๆ ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น

หมายเหตุ*พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา