สะดุ้งทั้งรัฐบาล!"สมคิด"ฟาดแรงประชาธิปไตยเวอร์ชันแจกกล้วย ไม่อายฟ้าดิน

สะดุ้งทั้งรัฐบาล!"สมคิด"ฟาดแรงประชาธิปไตยเวอร์ชันแจกกล้วย ไม่อายฟ้าดิน





ad1

"สมคิด” ปาฐกถา 88 ปี มธ. ฟาดแรงประชาธิปไตยเวอร์ชันแจกกล้วย ไม่อายฟ้าดิน หวังสร้างเกราะกำบังแสวงประโยชน์การเมือง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมาว่า จิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ในฐานะศิษย์เก่าที่เคยศึกษาเล่าเรียน ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน พ.ศ.2516-2519 และมีอิทธิพลต่อความคิดจนทำให้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในเวลาต่อมา

ทั้งนี้บริบทบ้านเมืองในอดีตหล่อหลอมให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์เน้นหนักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นเสรี การต่อสู้นั้นก็กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อมารุ่นต่อรุ่น แต่หากเรามองไปข้างหน้า กับปัญหาใหม่ๆ ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่คงไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอเสียแล้วกับการที่จะช่วยให้ลูกหลานของเราได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า

“เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยที่ชาวธรรมศาสตร์พยายามต่อสู้มาตลอด 88 ปี ผมว่าชาวธรรมศาสตร์ คงจินตนาการไปไม่ถึงและคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ใน เวอร์ชันแจกกล้วยเป็นหวี อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่อายฟ้าดินอย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง ชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง 1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60% ขณะที่คนไทย 99% เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการการเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้"อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว

“แต่เด็กรุ่นใหม่นั้น เขารับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีไฟ แต่เขาไม่สนใจหรอกที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่ เขาจะหันหลังให้เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาจะกลับมามีความกระตือรือร้นหากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ ผมเคยถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยที่เขาเห็นตั้งแต่เล็กจนโตว่า 4 second democracy แค่ 4 วินาที ที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป

แต่เขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า deliberative democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ หาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นแหละคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการต่อสู้และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นจุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม หรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล”