แจกน้ำ สร้างฝาย เตรียมรับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง

แจกน้ำ สร้างฝาย เตรียมรับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง





ad1

น่าน –พลตรีคณิศร  อาสมะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 38  ได้จัดกำลังพลจิตอาสา นำรถบรรทุกน้ำ จำนวน 6,000 ลิตร แจกน้ำ สร้างฝาย เตรียมรับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง 

พลตรีคณิศร  อาสมะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 38  ได้จัดกำลังพลจิตอาสา นำรถบรรทุกน้ำ จำนวน 6,000 ลิตร เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ที่บ้านดู่ต้นฮ่าง ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน  ตามโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2565  เพื่อเตรียมสำรองน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับการใช้อุปโภค และบรรเทาความเดือดร้อนในห้วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก

 ขณะที่ พันเอก นิรันดร์ชัย ทิพย์กาญจนกุล รองผู้อำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน  ร่วมกับภาคประชาสังคมและเครือข่ายฝายมีชีวิต นำโดย นางสุภาพ สิริบรรสพ หัวหน้าสำนักกิจการพิเศษ โรงพยาบาลน่าน และในฐานะเลขานุการศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน และคณะทำงานขับเคลื่อนและสนับสนุนการบริจัดการพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดน่าน   มูลนิธิฮักเมืองน่าน  องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และครูฝายมีชีวิต กรมทหารพรานที่ 32 เร่งเดินหน้าทำเวทีประชาเข้าใจสร้างฝายมีชีวิตห้วยท่าม่าว บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ และ ฝายมีชีวิตลำห้วยซ้อน บ้านต้าม ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน 

 
โดยได้บรรยายให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบฝายมีชีวิต และ จัดกระบวนสร้างความเข้าใจการทำฝายมีชีวิตซึ่งต้องมีองค์ประกอบที่เรียกว่า 3 ขา คือ ต้องทำเวทีประชาเข้าใจ ต้องไม่มีค่าแรง และต้องมีกฎกติกาในการใช้และดูแลรักษาฝาย ถึงจะเป็นฝายมีชีวิต ซึ่งกว่าจะได้ฝายแต่ละตัว ต้องเป็นความต้องการและความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชุมชนอย่างแท้จริง  ซึ่งการออกแบบตัวฝายที่ต้องมีบันไดนิเวศทั้งหน้าและหลังตัวฝาย เพื่อจะให้สัตว์น้ำสามารถปีนขึ้นไปวางไข่หรือผสมพันธุ์ได้ จึงทำให้ระบบนิเวศบริเวณตัวฝายสมบูรณ์ขึ้นมา

 และฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นให้กับดินโดยรอบตัวฝาย 1 ตารางกิโลเมตร ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย ไม้ไผ่ ทราย และชุมชนมีความรู้ที่สามารถซ่อมแซมฝายได้เอง โดยใช้งบประมาณที่สามารถจัดหากันได้ในระดับพื้นที่ชุมชน รวมทั้งการสร้างครูฝายชุมชนเพื่อเป็นการเพิ่มปราชญ์ท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนอย่างแท้จริง  ซึ่งหลังจากเวทีประชาเข้าใจ แล้วชุมชนมีมติสร้างฝายมีชีวิตทั้งสองแห่ง พร้อมลงพื้นที่สำรวจจุดเหมาะสมสร้างฝาย เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้

ระรินธร เพ็ชรเจริญ