อุตตม ชี้ไทยเผชิญวิกฤตซ้ำซ้อนจากสถานการณ์รัส-ยูเครน

อุตตม ชี้ไทยเผชิญวิกฤตซ้ำซ้อนจากสถานการณ์รัส-ยูเครน





ad1

อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์สงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงทำให้ท่านที่ติดตามข่าวสารรู้สึกกังวลใจไม่น้อย เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทิศทางของเหตุการณ์นี้ จะดำเนินต่อไปอย่างไร จะขยายวงเพิ่มความรุนแรง หรือจะยุติลงเมื่อไหร่ โดยส่วนตัวผมหวังว่า เหตุการณ์จะยุติลงด้วยแนวทางสันติวิธีในเร็ววัน 



อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย สิ่งที่เราควรตระหนักคือ วันนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากพิษโควิด สถานการณ์ในยูเครนอาจกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศไทยหนักหน่วงยิ่งขึ้น  และอาจกระทบต่อโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศจะพลิกฟื้นได้ภายในปีนี้ตามที่มีการคาดหวังหรือประเมินไว้จากหน่วยงานต่างๆ
.
ขณะนี้สงครามยูเครน เพิ่มความผันผวนและความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานพุ่งสูง ประกอบกับวัตถุดิบในการผลิตอาหารและสินค้าหลายประเภทเริ่มขาดแคลน ตลอดจนมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆที่อาจถูกนำออกใช้เพิ่มเติมอีก ก็จะกระทบต่อการฟื้นและขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งก็จะมีผลต่อภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของไทยได้
.
ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ คือ ความไม่แน่นอนในทิศทางนโยบายของธนาคารกลางประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ที่อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ยูเครน เช่น การดูดสภาพคล่องออกจากระบบ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะมาตรการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นจากนี้ไป 
.
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงการถูกกระทบได้ยาก เช่น ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งกระทบราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเดินทาง การขนส่งให้เพิ่มขึ้น และยังอาจขยายไปสู่สินค้าอื่นๆได้อีก 
.
ผมจึงคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งทำในเวลานี้ นอกเหนือจากดูแลประชาชนที่ถูกผลกระทบอย่างครอบคลุมแล้ว เราควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วยความรอบคอบไว้ก่อน เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้ จะขยายวงหรือยืดเยื้อยาวนานไปอีกเท่าใด ซึ่งการหารือและร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 
.
ประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการในภาวะเช่นปัจจุบัน คือการจัดสภาพคล่องให้เพียงพอ สำหรับใช้ในการดูแลประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อบรรเทาภาระทางการเงิน ไม่ให้เกิดการชะงักงันเฉียบพลันขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้ผมเห็นว่าการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยหากรัฐบาลสามารถสื่อสารสม่ำเสมอ ให้สังคมได้รับรู้ถึงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นไปได้ที่จะยืดเยื้อนั้น ประชาชนก็จะมีความมั่นใจที่จะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป   โดยหากปราศจากความมั่นใจในวงกว้าง การดูแลเศรษฐกิจก็จะไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควร
.
สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น โดยภาครัฐควรพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้
.
1.การรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังรวมถึงตลาดทุนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติและมีความเสี่ยงสูงนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นเกราะให้เศรษฐกิจของประเทศในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหารุนแรง

2.หากจำเป็นต้องมีการกู้ยืม ก็จะต้องไม่ให้เป็นภาระต่อการเงินการคลังของประเทศในอนาคต การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด
.
ผมมีความเห็นว่า หากมีการกู้ยืม ควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยนอกเหนือจากงบประมาณเพื่อมาตรการดูแลและเยียวยาระยะสั้นแล้ว ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ด้วยโครงการที่มีพลังเพียงพอ เน้นการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเอกชนไปพร้อมกัน  เพื่อวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

เช่น การสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ การพัฒนาบุคลากรของประเทศ และรวมถึงการจัดงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนให้ลงไปถึงระดับชุมชนในภาคชนบท เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาและเพิ่มความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อไป

การลงทุนของภาครัฐในลักษณะนี้ จะไม่เพียงตอบโจทย์การดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนด้วย  เพราะในภาวะเช่นนี้ภาคเอกชนย่อมอยากเห็นให้รัฐนำการลงทุน โดยเป็นการลงทุนอย่างมีเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคตให้ประเทศ
.   
ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเช่นนี้ ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมวางแผนรับมือไว้ด้วยเช่นกัน โดยควรติดตามข่าวสารข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่มีต่อธุรกิจไว้แต่เนิ่นๆ โดยหากกรณีสถานการณ์เกิดรุนแรงเฉียบพลัน หรือยืดเยื้อ ผู้ประกอบการจะมีแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้นผิดปกติมากจากภาวะเงินเฟ้อ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอยลงนั้น ผู้ประกอบการควรคิดถึงทางเลือกในการปรับแผนธุรกิจและบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า

ในการวางแผนและเตรียมการนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนต้องคำนึงถึงในลำดับต้น คือการรักษาสภาพคล่องในระยะสั้นให้เพียงพอมากที่สุด ส่วนการลงทุนใหม่หรือลงทุนเพิ่มในระหว่างนี้ คงต้องใช้ความระมัดระวังและรัดกุมในการเลือกลงทุน แต่ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องปิดประตูในการลงทุนใหม่เสียทั้งหมด เพราะอดีตที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า ในทุกภาวะวิกฤตย่อมมีโอกาสแทรกอยู่ด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการก็ควรจะสอดส่องดูโอกาสในการลงทุนใหม่ไปพร้อมๆกัน แต่ย้ำว่าต้องกระทำด้วยความรัดกุม รอบคอบ นะครับ

สำหรับภาคประชาชน ลูกจ้าง พนักงาน ก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้เป็นหลัก โดยขณะเดียวก็เป็นเวลาที่เราสามารถทบทวนศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ แต่อาจไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้นำไปสู่โอกาสใหม่ๆด้านอาชีพไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

ในภาวะที่พวกเราต้องเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นมากเช่นปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนย่อมมีความจำเป็น โดยความร่วมมือใกล้ชิดจะเป็นรากฐานของการกำหนดมาตรการ และแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ตรงเป้าและสัมฤทธิผล ขณะเดียวกันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันและกัน ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น และเราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในทุกรูปแบบ 
.
ขอบคุณครับ
#สร้างอนาคตไทย