ชาวน่านพร้อมใจสร้าง “ฝายมีชีวิตบ้านสะไล” สู้ภัยแล้ง

ชาวน่านพร้อมใจสร้าง “ฝายมีชีวิตบ้านสะไล” สู้ภัยแล้ง





ad1

น่าน –ประชาชนจิตอาสาบ้านสะไลร่วมแรง ร่วมใจ  สร้าง “ฝายมีชีวิตบ้านสะไล” สู้ภัยแล้ง

ประชาชนจิตอาสาบ้านสะไล โดยพลเมืองอาสาประชารัฐอำเภอบ่อเกลือ  ร่วมกับ ผู้นำชุมชน เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมแรงร่วมใจ  ช่วยกันสร้างฝายมีชีวิตบ้านสะไล หมู่ 2 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยได้รับการประสานงานและการสนับสนุนหลายจากหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน   กรมทหารพรานที่ 32 กองช่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน  มูลนิธิฮักเมืองน่าน  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน  สาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ   ครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีฯ โดยชาวบ้านสะไลได้สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเป็นแรงงาน ระดมแรงใจแรงกายใช้เวลารวม 5 วัน  สร้างฝายขนาด ความกว้าง 3 เมตร ความยาว 1 เมตร ความสูง 60 เซนติเมตร 

นางสาวปวริศา ธนามี เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ กล่าวว่า กลุ่มประชาชนจิตอาสาและชาวบ้านสะไล  มีความประสงค์จะสร้างฝายมีชีวิต เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทุกช่วงฤดู โดยในช่วงหน้าแล้ง จะได้มีน้ำใช้ทั้งพื้นที่การเกษตรและเพื่อการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน  และเพื่อป้องกันอุทกภัยในหน้าฤดูน้ำหลากด้วย โดยได้ประสานงานไปยังศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน เพื่อขอรับการสนับสนุนและองค์ความรู้ในการสร้างฝายมีชีวิต

นางสุภาพ สิริบรรสพ  หัวหน้าสำนักกิจการพิเศษโรงพยาบาลน่าน และในฐานะเลขานุการ ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน กล่าวว่า หลังได้รับการประสานขอสร้างฝายมีชีวิต ได้จัดทำเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยฝายมีชีวิต มีองค์ประกอบที่เรียกว่า 3 ขา คือ ต้องทำเวทีประชาเข้าใจ ต้องไม่มีค่าแรง และต้องมีกฎกติกาในการใช้และดูแลรักษาฝาย ถึงจะเป็นฝายมีชีวิต ซึ่งกว่าจะได้ฝายแต่ละตัว ต้องเป็นความต้องการและความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชุมชนอย่างแท้จริง  

นอกจากนี้ การออกแบบตัวฝายที่ต้องมีบันไดนิเวศทั้งหน้าและหลังตัวฝาย เพื่อจะให้สัตว์น้ำ ปลา เต่า สามารถปีนขึ้นไปวางไข่หรือผสมพันธุ์ได้ จึงทำให้ระบบนิเวศบริเวณตัวฝายสมบูรณ์ขึ้นมา มีหลายฝายที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน  ซึ่งฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นให้กับดินโดยรอบตัวฝาย 1 ตารางกิโลเมตร ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย ไม้ไผ่ ทราย ส่วนเรื่องกระสอบพลาสติกและเชือกใยยักษ์ ใช้เพราะคุณสมบัติที่ทนทานในน้ำเพื่อยืดอายุของตัวฝาย ซึ่งกระสอบพลาสติกหากนำไปเผาหรือฝังก็ยังเป็นมลภาวะ 

จึงนำคุณสมบัติเอามาช่วยทำให้ฝายมีชีวิตแข็งแรง แต่จะไม่เป็นขยะในแหล่งน้ำ เนื่องจากชุมชนมีความรู้ที่สามารถซ่อมแซมฝายได้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งงบประมาณหรือคนจากนอกชุมชนเลย ซึ่งทางมณฑลทหารบกที่ 38 และกรมทหารพรานที่ 32 ได้สร้างครูฝายมีชีวิตและครูฝายชุมชนเพื่อเป็นการเพิ่มปราชญ์ท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนอย่างแท้จริง

สำหรับฝายมีชีวิตบ้านสะไล ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชุดครูฝายมีชีวิต กรมทหารพรานที่ 32 และ กองช่างอบจ.น่าน ที่สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ในการสร้างฝายมีชีวิต และอีกหลายหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน ซึ่งฝายบ้านสะไล เป็นฝายมีชีวิตลำดับที่ 9 ของอำเภอบ่อเกลือ และเป็นลำดับที่ 81 ของจังหวัดน่าน

ระรินธร เพ็ชรเจริญ