"ป๋าชู" ตีแผ่ระบบยุติธรรม ลั่น “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”

"ป๋าชู" ตีแผ่ระบบยุติธรรม

"ป๋าชู" ตีแผ่ระบบยุติธรรม  ลั่น “เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”





ad1

25 ธ.ค. 2565  นายชูวิ ทย์ กมลวิศิษฎ์  นักวิ่งสู้ฟัด ต่อสู้กับขบวนการจีนเทาสุดฤทธิ์  ได้กล่าวถึงระบบยุติธรรม ที่ตนเองเคยมีประสบการณ์มาเกือบ 20 คดี  บางคดีถึงทนายกระซิบว่าชนะแน่ แต่ตนก็ยอมรับสารภาพ เพราะยึดสุภาษิตประจำใจว่า  “สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ”  จึงยอมจบปลายทางกระบวนการยุติธรรมที่ “คุก” นายชูวิทย์ ได้เล่าเรื่องราวอย่างน่าสนใจดังนี้ว่า :-
ตีแผ่ระบบยุติธรรม
.
ผมผ่านคดี เดินขึ้นลงศาล มีประวัติยาวเหยียดเป็นหางว่าวถึงเกือบ 20 คดี
.
รับใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล
.
สู้คดีเกือบทุกศาลทั้ง ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลปกครอง ไปยันศาลฎีกา
.
แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยตัดสินผมมาแล้ว
.
ทุกคดีความ มีแพ้มีชนะ ไม่มีเสมอ บางคดีเลือกสารภาพไปเลย แม้ทนายความจะกระซิบเสียงเข้มว่าชนะแน่คดีนี้ เหมือน “ไฮโลเปิดถ้วยแทง”
.
แต่จากประสบการณ์ผม รับดีกว่า ยึดสุภาษิตประจำใจ
.
“สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ”
.
จึงยอมจบปลายทางกระบวนการยุติธรรมที่ “คุก” แม้ว่ายังยื้อเวลาได้ แต่เป็นหนทางที่ผมเลือกเอง เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะสู้ต่อ
.
การเข้าคุกหลายครั้งของผมไม่ได้ทำให้เสียใจ เหมือนตอนเด็กเคยโดนครูตีมาแล้ว จะโดนอีกก็ ยิ้มรับชะตากรรม รู้ว่าเมื่อเข้าไปต้อง
.
“อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้”
.
วันนี้ไม่ใช่วันของเรา แต่เป็นวันที่เราต้องยอมรับ ว่า “มันจบแล้ว”
.
แพ้ให้เป็น ไม่มีใครที่ชนะได้ตลอด หากมี 20 คดี แพ้สัก 5 คดี ติดคุก 3 คดี ก็ถือว่าทำดีที่สุดในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
.
แต่คุกไม่ได้ขังคนผิดทั้งหมด และคนรอดคุก รอดตะราง ก็ไม่ได้หมายความว่าบริสุทธิ์เสมอ
.
เพราะระบบยุติธรรมเมื่อขึ้นศาล ต้องพึ่ง “พยาน หลักฐาน” เป็นสำคัญ
.
แม้ตำรวจจับ ศาลไม่ให้ประกันตัว นอนคุก ก็ไม่ได้หมายความว่า “ผิด”
.
“ตู้ห่าว” เป็นกรณีที่มีการอำพราง ปิดบัง ช่วยเหลือจากระบบยุติธรรม
.
“ต้นน้ำ” ที่เริ่มจากตำรวจ ก่อนส่งต่อไปที่ “กลางน้ำ” อัยการ และที่ “ปลายน้ำ” ศาล
.
หากตำรวจทำคดีให้บิดเบี้ยวตั้งแต่ต้นน้ำเสียแล้ว กลางน้ำ และปลายน้ำย่อมไม่สามารถตรงได้
.
หรือหากแม้ต้นน้ำจะมาตรง แต่กลางน้ำหวั่นไหว ก็ไปไม่ถึงปลายน้ำได้เช่นกัน
.
ยกตัวอย่างคดี “บอสกระทิงแดง” ที่ถูกทั้งต้นน้ำ ตำรวจ และกลางน้ำอัยการ เขย่าจนสะเทือนไปทั้งวงการยุติธรรม
.
บางคดีมีคน “วิ่งเต้น” หากไม่มี ทำไมกลับเห็นคนวิ่งเต้นหลุด ส่วนคนไม่วิ่งเต้นติดคุก
.
ยิ่งหากเป็นคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล มีเงินมีทอง โอกาสหลุดรอดมีมาก เพราะต่อสู้นานเป็นปีๆ กระแสเงียบ เล่นใต้ดิน ยิงสลุตจนอ่อนระทวย
.
ท้ายสุด หลุดออกมาอย่างที่สาธุชนคนเดินดินเห็นข่าว งง กันเป็นแถบว่าหลุดได้ไง?
.
และกลายเป็นแค่คำตอบสั้นๆ ที่สื่อลงว่า “พยาน หลักฐานอ่อน”
.
แล้วมันอ่อนได้ไง? เมื่อฝั่งชาวบ้านเห็นตอนจับ ตำรวจบอกมีพยานหลักฐานมากมาย ออกข่าวกัน 7 วัน 7 คืน
.
ยิ่งคดีตู้ห่าวลากยาวถึง 2 เดือนแล้ว ยังสาวไม่จบ
.
มีผมร่วมแจม ดึงหน่วยงานสารพัด ดีเอสไอ ป.ป.ส. แม้แต่อัยการ ให้มาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้นน้ำชั้นตำรวจ
.
กระบวนการยุติธรรมต่อสู้กันไปมาใช้เวลานานเกินไป ตอนจบกลายเป็นว่าพยานหลักฐานไปไม่ถึง ต้องปล่อยตัว
.
ที่ออกข่าวไปตอนต้นดูเป็น “ผู้ร้าย” แต่พอสุดท้ายตอนจบกลายเป็น “ผู้บริสุทธิ์”
.
งานนี้จึงมีความจำเป็นที่ผมในฐานะ “ประชาชน” ที่ใช้ประสบการณ์ทุ่มเท ไม่ให้มีการวิ่งเต้น รู้เท่าทันลูกล่อลูกชนเล่ห์เหลี่ยมทุกชนิด ใต้ดินทุกรูปแบบ
.
เพื่อให้ความยุติธรรมเดินหน้าอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ผมได้รับ มิได้กลั่นแกล้งผู้ใด
.
เมื่อผมรับใช้ความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด ย่อมต้องการให้ทุกคนในสังคมนี้ได้รับเหมือนผม
.
ไม่อย่างนั้นมันจะเรียกว่า “ความยุติธรรม” ได้หรือ?
.
หากมันเหลื่อมล้ำบิดเบี้ยว ใช้ไม่เท่าเทียมกัน คนมีเส้นวิ่งเต้นหลุดคดี ส่วนชาวบ้านตาสีตาสาคนเดินดินไม่มีเส้น ติดคุก
.
แม้มันจะเป็นเพียง “อุดมคติ” แต่หากเราไม่มีอะไรยึดถือ จะให้มีกฎหมายไปทำไม?
.
เปรียบเสมือนการมองไปที่กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว แล้วผมจะพยายามทำให้ตรง แม้เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ทำได้
.
และต้องเหนื่อยยาก เหมือนเอามือไปทุบกำแพง แต่จำเป็นต้องทำ
.
อย่างที่บอกไว้ว่า
.
“เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”