"พนิต" ปชป. ชี้ สังคมไม่ต้องการแค่คำพูด "รับผิดชอบ" -การลาออกไม่ใช่หนีปัญหาและในอดีตคน ปชป.แสดงความรับผิดชอบด้วยการ "ลาออก" หลายคน

พนิตปชป.ชี้การลาออกไม่ใช่หนีปัญหา

"พนิต" ปชป. ชี้ สังคมไม่ต้องการแค่คำพูด "รับผิดชอบ" -การลาออกไม่ใช่หนีปัญหาและในอดีตคน ปชป.แสดงความรับผิดชอบด้วยการ "ลาออก" หลายคน





Image
ad1

24 เม.ย. 2565  นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสข้อความดังนี้ว่า 
"Accountability"เพื่อรับผิดชอบ ไม่ใช่หนีปัญหา!
.
ผมเชื่อมาเสมอว่า สิ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้มานานหลายสิบปี จนได้ชื่อว่า เป็นสถาบันการเมืองที่มีรากฐานมั่นคงที่สุดคือ ความศรัทธา และ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเรา
.
วันนี้พรรคกำลังเผชิญวิกฤติ ครั้งใหญ่ และเราจะผ่านวิกฤติไปได้ ก็ต่อเมื่อได้ทำให้สังคมและประชาชนกลับมาศรัทธาและเชื่อมั่นเราเหมือนเดิม
.
ตั้งแต่เกิดเรื่องในช่วงสงกรานต์ ต่อเนื่องมาปฏิกิริยาของผู้บริหารพรรคที่ออกมาขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ผ่านมาแล้วหลายวัน คำถามของสังคมและประชาชนที่มีต่อเรายังคงอยู่ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า จบแบบนี้ใช่หรือไม่?
.
ผมเห็นด้วยที่ผู้บริหารพรรคที่กล้าออกมาขอโทษต่อสังคม แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นปฏิกิริยาที่ช้าเกินไปก็ตาม แต่ในฐานะสมาชิกพรรค ผมให้กำลังใจ การมองว่า ช้า หรือ ไม่ช้า นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ ช้า แล้วเพียงพอที่จะเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นของพรรคให้กลับมาได้หรือไม่ต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ
.
เพราะวันนี้มีหลายคนมองว่า สิ่งที่ดำเนินการไปยังไม่เพียงพอ จนทำให้ประชาชนอาจไม่เชื่อว่า พรรคแก้ไขปัญหานี้ได้ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว
.
พูดง่ายๆ คือ คนยังไม่เชื่อใจพวกเรา หากเป็นธนาคาร พวกเขายังคงถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องอยู่ เพราะไม่มั่นใจว่า เราจะบริหารสินทรัพย์ได้ดี
.
ประชาชนต้องการความมั่นใจมากกว่านี้ ดังนั้นเราต้องคิดให้ออกว่า ยังมีอะไร หรือมีมาตรการอะไรที่ชัดเจนว่า เราจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความรับผิดชอบอะไรที่จะทำให้พวกเขากลับมาศรัทธาได้เหมือนเดิม
.
ในภาษาอังกฤษ มีคำอยู่ 2 คำ ที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ คำแรกคือ Responsibility หรือ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ กับอีกคำคือ Accountability หรือ ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือความรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
.
2 คำนี้แตกต่างกันพอสมควร และสำหรับ Responsibility ไม่น่าจะเพียงพอกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเราอยู่ เพราะสังคมต้องการอะไรที่มากกว่า Responsibility ไปแล้ว
.
สังคมต้องการมากกว่าคำพูดว่า รับผิดชอบ แต่พวกเขาต้องการให้เรารับผิดชอบและดำเนินการกับสิ่งที่ได้ทำลงไปจากกรณีการแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาและเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Accountability
.
แต่ในกรณีที่มีหลายคน Responsible ไม่จำเป็นว่า ทุกคนจะต้อง Accountable ในต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำที่จะต้องรับภาระนี้ ตัวอย่างที่ดีคือ การที่หัวหน้าโครงการก่อสร้างอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ Responsible สำหรับงานสร้างในทุกส่วนของโครงการ แต่จะต้องเป็นคนที่ Accountable เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในแต่ละภาคส่วน
.
ในอดีตคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง เคยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องมาหลายคนแล้ว ยกตัวอย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. คุณวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
แม้แต่ล่าสุดที่ คุณวิทยา แก้วภราดัย อดีตส.ส.หลายสมัยของพรรคเรา ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะที่กรรมการบริหารพรรคเป็นคนชักจูง คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ มาอยู่ในพรรค
.
สำหรับผมไม่มองว่า การรับผิดชอบด้วยการลาออก จะเป็นการทิ้งปัญหา หรือหนีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์คือสถาบันการเมือง ที่ขับเคลื่อนและยืนหยัดในหลักการไม่ใช่ตัวบุคคล
.
ผมคิดเพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า เราคือสถาบันทางการเมืองที่ไว้วางใจได้