คนไทยเครียดปัญหาเศรษฐกิจ! รายได้น้อยลง ท่ามกลางราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี

คนไทยเครียดปัญหาเศรษฐกิจ!

คนไทยเครียดปัญหาเศรษฐกิจ! รายได้น้อยลง ท่ามกลางราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี





ad1

- ปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางโรคระบาด ยังคงส่งผลกระทบซ้ำเติมความยากลำบาก การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย ล่าสุดผลสำรวจ “สวนดุสิตโพล” เปิดเผยความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง  1,148 คนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับพิษเศรษฐกิจ" พบว่าประชาชน ร้อยละ 65.23 เครียดมาก กับภาวะเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพง สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี หรือ “Biothai” ที่เผยว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าโลกและประเทศไทย กำลังเข้าสู่วิกฤตอาหารแล้ว อ้างอิงราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี! 
.
▪️ กลุ่มตัวอย่างกว่า 63% ต้องประหยัด - วางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น 
.
สวนดุสิตโพล ระบุว่าในการสอบถามถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง 5 อันดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่

อันดับ1 - ร้อยละ 62.76 บอกว่าต้องประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น 

อันดับ2 - ร้อยละ 60.12 บอกสินค้าแพงขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 

อันดับ3 - ร้อยละ 59.07 บอกว่ารายได้ลดลง ขายของได้น้อยลง ไม่มีลูกค้า 

อันดับ4 - ร้อยละ 57.22 ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ต้องกู้หนี้ยืมสิน 

อันดับ5 - ร้อยละ 54.58 บอกว่าต้องหารายได้เพิ่ม ทำงานหนักมากขึ้น หาอาชีพเสริม
.
▪️ ประเทศแถบเอเชีย ราคาเนื้อสัตว์และโปรตีน พุ่ง 20% - 2500% จากโรคระบาด
.
ในขณะที่ มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยข้อมูลอ้างอิงดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ของ FAO ชี้ว่าราคาอาหารสำคัญของโลกที่วัดจากดัชนีราคาธัญพืช เนื้อสัตว์ นม น้ำตาล และน้ำมันพืช ขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าดัชนีราคาอาหารเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นวิกฤตอาหารครั้งสำคัญของโลก (Global Food Crisis) ก่อนหน้านี้
.
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการพุ่งทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับปัญหาราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะการระบาดของ ASF ในเอเชีย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อสัตว์และโปรตีนที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ 20% - 2500% จากโรคระบาด
.
▪️ ค่าใช้จ่ายเกินครึ่งของคนจนคือ “ค่าอาหาร”
.
“วิกฤตอาหารคราวนี้ อาจรุนแรงกว่าปี 2008 เพราะ ไม่ใช่เฉพาะราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่เพราะรายได้ของประชาชนในหลายประเทศ กลับลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ เพราะผลพวงจากปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของโควิด-19” มูลนิธิชีววิถี ระบุ
.
สำหรับในประเทศไทย ตัวเลขประชาชนที่ถือบัตรคนจน มีอยู่ 13.45 ล้านคน เมื่อปี 2564 พุ่งทะลุเป็น 20 ล้านคน ในปี 2565  หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนเหล่านี้จะได้รับผลจากวิกฤตอาหารหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น เพราะค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งหนึ่ง ของพวกเขาคือค่าใช้จ่ายด้านอาหาร