ตร.เดินหน้าอาผิดผู้ปล่อยกู้ไม่ได้รับอนุญาต!! เตือนมีโทษหนักถึงจำคุก

กู้นอกระบบ

ตร.เดินหน้าอาผิดผู้ปล่อยกู้ไม่ได้รับอนุญาต!! เตือนมีโทษหนักถึงจำคุก





ad1

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยกู้เงินนอกระบบ การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษหนักถึงจำคุก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ โดยปัจจุบันยังคงอยู่ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนบางส่วน จึงมีความจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งก็มีเหล่ามิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสนี้ แฝงตัวมาในรูปแบบของแหล่งเงินกู้นอกระบบ และได้กระทำความผิดรูปแบบต่าง ๆ โดยการกระทำความผิดที่พบคือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา และการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ได้

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันและหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) สั่งการไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) และหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ดังเช่นกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 19.30 น. ในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จว.พระนครศรีอยุธยา โดยลูกหนี้ได้ไปกู้เงินกับเพจเฟซบุ๊กปล่อยเงินกู้จำนวน 1,000.-บาท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ซึ่งต่อมาเจ้าหนี้ได้มาทวงถามหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยบริเวณตลาดกลางเพื่อการเกษตร ตามวันเวลาเกิดเหตุ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และได้มีการทำร้ายร่างกายคู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บ

ความคืบหน้าในทางคดีขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด แสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องโดยสามารถพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้ก่อเหตุรวม 6 ราย และในส่วนของพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยาน รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และได้เรียกตัวผู้ที่กระทำความผิดมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 5 ราย และในวันนี้ 18 พฤษภาคม 2565 จะนำตัวผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย ไปขออนุมัติต่อศาลเพื่อขอฝากขังตามขั้นตอนต่อไป ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 1 ราย ได้นัดหมายให้มารับทราบข้อกล่าวหา และจะดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

อีกกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่ สภ.คูคต จว.ปทุมธานี โดยผู้เสียหายได้ไปยืมเงินจากกลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวน 10,000.-บาท โดยตกลงชดใช้ยอดหนี้วันละ 500.-บาท จำนวน 24 วัน และต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ กลุ่มผู้ต้องหาได้มาทวงถามหนี้ที่ยืมไป แต่ตกลงกันไม่ได้ และได้มีการทำร้ายร่างกายกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คูคต จึงได้รับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการตามกฎหมาย และทำการสืบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวกลุ่มผู้ต้องหา และได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่ออนุมัติออกหมายจับแล้วจำนวน 3 ราย ซึ่งจับกุมส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้แล้วจำนวน 2 ราย ส่วนรายที่ยังหลบหนี เจ้าหน้าที่ก็จะติดตามจับกุมต่อไป รวมถึงทำการสืบสวนสอบสวนว่า มีผู้กระทำความผิดรายอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ตามขั้นตอนของกฎหมาย

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000.-บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงหากมีการทวงหนี้โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่น หรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000.-บาท 

ส่วนผู้ที่กระกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1 - 5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000.-บาท - 500,000.-บาท และการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000.-บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติของศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 เมษายน 2565 มีการแจ้งการกระทำความผิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,361 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 1,093 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80 คงเหลือ 268 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20      

โดยการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การปล่อยกู้ออนไลน์ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป รวมถึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่าง ๆ และแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1. หากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ หรือให้ความช่วยเหลือ
2. ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง
3. หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ                      @เผยแพร่ : Wichuda