รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์แนะปชช.เลือกซื้อ ATKที่มีความไว-ค่าจำเพาะ 90% ขึ้นไป

รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์แนะปชช.เลือกซื้อ ATKที่มีความไว-ค่าจำเพาะ 90% ขึ้นไป





Image
ad1

อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แนะประชาชนซื้อ ATK ที่มีความไว-ค่าจำเพาะ ตั้งแต่ 90% ขึ้นไป แต่หากพบผลเป็น “ลบ” ก็ไม่ได้การันตีว่าติดเชื้อโควิด ย้ำ RT-PCR ยังเป็นวิธีการคัดกรองที่เป็นมาตรฐานสากล

รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานสัมมนา “วิทยาการระบาดสู่การสานพลังภาครัฐ-เอกชน ต่อโรคโควิด–19” ภายใต้การประชุมวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. ว่า หลายครั้งของการเกิดโรค เรามักจะมองเห็นแต่คนที่แสดงอาการแล้วเท่านั้น และส่วนใหญ่จะสนใจให้การรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่เรามองเห็น แต่ด้านการควบคุมป้องกันโรคในทางระบาดวิทยาจะให้ความสำคัญทั้งในส่วนที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการป้องกันควบคุมโรคโควิด–19 จะเห็นว่ามีทั้งผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแล้วไปรับการบริการ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแต่ยังไม่ได้มารับบริการ และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการและเจ้าตัวก็ยังไม่รู้ว่าติดเชื้อ ซึ่งในทางระบาดวิทยาจะให้ความสนใจกับคนทุกกลุ่ม 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ จะต้องเน้นเรื่องการป้องกันในระดับปฐมภูมิ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรค การสร้างเสริมสุขภาพให้คนในชุมชนไม่ติดเชื้อ ซึ่งหากทำส่วนนี้ได้ดีโรคก็จะไม่แพร่ระบาดออกไป ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ หากไปพบแพทย์และทำการรักษาได้เร็วย่อมมีโอกาสที่จะหายป่วยได้ แต่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้ไปรับบริการและกลุ่มผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการนั้นมีโอกาสแพร่เชื้อได้ และมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในกลุ่มนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเครื่องมือที่จะช่วยคัดกรอง ซึ่งถือเป็นการป้องกันในระดับทุติยภูมิ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด เครื่องมือคัดกรองที่ใช้คือ RT-PCR (Polymerase chain reaction) มีความแม่นยำสูงแต่ต้องรอผลตรวจนาน ปัจจุบันมีการพัฒนาชุดตรวจต่างๆ ออกมาใช้ ทำให้สามารถทราบผลตรวจได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่สุดแล้ว RT-PCR ก็ยังถือเป็นวิธีมาตรฐานสากล (Gold Standard) อยู่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ก่อนจะนำเครื่องมือคัดกรองออกมาวางจำหน่ายจะต้องผ่านการประเมินเครื่องมือก่อน โดยการนำไปเทียบกับวิธีมาตรฐานสากล (Gold Standard) เพื่อดูว่ามีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากค่าความไว (Sensitivity) และค่าความจำเพาะ (Specificity) 

ทั้งนี้ ชุดตรวจควรมีค่าไม่ต่ำกว่า 80% และยิ่งค่าสูงขึ้นโอกาสที่จะเกิดผลบวกลวงและผลลบลวงก็จะน้อยลง โดยการหาค่าความไวจะคำนวณจากค่าผลบวกจริง หารด้วยจำนวนกลุ่มคนที่เป็นโรคทั้งหมด ส่วนค่าความจำเพาะจะคำนวณจากค่าผลลบจริง หารด้วยจำนวนกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นโรคทั้งหมด

รศ.ดร.สิริมา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้เลือกซื้อหลายยี่ห้อ หลายราคา ดังนั้นก่อนที่ประชาชนจะเลือกซื้อไปใช้ ควรดูว่าชุดตรวจมีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน โดยการดูค่าความไว และค่าความจำเพาะ ที่ไม่ควรต่ำกว่า 90% ซึ่งทุกวันนี้มีชุดตรวจหลายยี่ห้อที่มีค่าความไวและค่าความจำเพาะมากกว่า 90% แต่ก็ยังไม่มียี่ห้อไหน 100% ดังนั้นเมื่อใช้เครื่องมือในการคัดกรองแล้วผลตรวจเป็นลบ ก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มว่าป่วยไม่เป็นโรคหรือติดเชื้อ 100%

“ถ้าเราคัดกรองโรคไม่ทัน ปล่อยให้มีการดำเนินโรคต่อไป เมื่ออาการมากขึ้นหรือเริ่มปรากฏอาการ เช่น มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ก็ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจเกิดการเสียชีวิต ฉะนั้นโควิด–19 ถือว่าเป็นโรคที่น่ากลัวทางสังคมเพราะต้องเสียชีวิตแบบโดดเดี่ยว แต่ถ้ารักษาได้ทัน อาการดีขึ้น ก็จะต้องเข้าสู่การฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลในระดับตติยภูมิ” รศ.ดร.สิริมา กล่าว