นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal

072

นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal





ad1

นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal..ด้านภาคธุรกิจสหรัฐฯ ย้ำความเชื่อมั่นต่อนายกฯ และรัฐบาลจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ พร้อมมั่นใจ ขยายการลงทุนในไทย

 

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2564) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล (hybrid) โดยมีนาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก USABC และผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ จำนวน 49 บริษัท เข้าร่วมการประชุมฯ

นาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สอท. สหรัฐฯ ประจำประเทศไทย การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและความมั่นคงอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าต้องการจะขยายการลงทุนในไทย และยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า

นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในการเยือนภูมิภาคประจำปีของ USABC และถือเป็นมิตรของไทยที่พบกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นว่าร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 6.19 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งในทางนโยบายทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ การส่งเสริมพลังงานสะอาด การพัฒนา เทคโนโลยี EV และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยั่งยืน และหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 

นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 ประการหลักที่ไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal อย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และเข้มแข็ง ดังนี้
1. การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโดยมุ่งดูแลฐานทรัพยากร และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด ไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของโลก    
2.  การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง ในภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับไทยและภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการพัฒนาความร่วมมือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism อันดับต้นของโลก
3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในยุค Next Normal มุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง data center และศูนย์กลางคลาวด์ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและบริการคลาวด์ ส่งเสริม e-commerce ธุรกิจ digital startups และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะแก่บุคลากร ขณะเดียวกันได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อน Digital Thailand ผ่านการลงทุน ณ Digital Valley และ IoT Institute ใน EEC อาทิ การรักษาแบบ Telemedicine    

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้แนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทุกภาคส่วน จึงหวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมทำงาน และสนับสนุนประเด็นที่ให้ความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากไทยไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2566 อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่าไทยเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ และยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายการส่งออกต่อไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสาธารณสุข ยินดีจะยืนเคียงข้างไทย รวมทั้งชื่นชมการเปิดประเทศและความมุ่นมั่นของไทยที่จะเพิ่มเติมบทบาทด้านการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า ซึ่งทางคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการต่อสู้สถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน และจะติดตามการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นต่อไป